สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

กล้วยงาช้าง พันธุ์ที่มีผลกล้วยขนาดใหญ่

กล้วยงาช้าง คือกล้วยพันธุ์หนึ่งที่มีผลกล้วยขนาดใหญ่ มีความยาวจนถึง 50 เซนติเมตร เรียกได้ว่าเป็นกล้วยยักษ์  และยังมีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น กล้วยโกกและกล้วยหมอนทอง เป็นต้น แต่เดิมคนในอดีตจะปลูกกล้วยพันธุ์นี้ไว้เพื่อใช้เป็นไม้เสี่ยงทายและใช้พยากรณ์คำอธิษฐาน สมาชิกในครัวเรือนใดที่ปลูกกล้วยชนิดนี้ไว้ หากปีใดกล้วยให้ผลจะถือว่ามีโชคมีชัย มีลาภผล  เพราะแต่เดิมนั้น กล้วยงาช้างแต่ละเครือจะให้ผลเพียง 1-3 หวีเท่านั้น ผลกล้วยไม่นิยมนำมารับประทานสด แต่มักนำมาแปรรูปเป็นกล้วยฉาบ และหากเรานำผลกล้วยไปนึ่งหรือเชื่อมจะทำให้เนื้อผลของกล้วยมีความเหนียวหนึบเพิ่มขึ้น จึงทำให้กลายเป็นกล้วยที่นำไปเชื่อมแล้วได้รสชาติอร่อยและน่ารับประทานอย่างยิ่ง ในปัจจุบันกล้วยพันธุ์นี้กลายเป็นต้นกล้วยหายาก จึงกลายเป็นพันธุ์ไม้แปลกที่มีผู้คนหามาปลูกเพื่ออนุรักษ์ไว้และนำมาใช้เป็นไม้ประดับเพิ่มมากขึ้น

กล้วยงาช้างเป็นกล้วยที่ผลิจากลำต้นใต้ดินหรือเหง้า ลำต้นเทียมที่เกิดจากกาบใบที่เรียงโอบรอบลำต้น มีความสูงถึง 3-4 เมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้นถึง 15 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าทั้งสูงและใหญ่กว่าต้นกล้วยโดยทั่วไปที่เราพบเห็น ดอกแตกเป็นปลีรูปทรงกระบอกปลายเรียวยาว มีความยาวถึง 25 เซนติเมตร และขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 7 เซนติเมตร โดยบางปีอาจไม่ออกปลีเลยก็ได้ แต่หากออกปลีจะออกเพียง 1-3 หวีต่อเครือ ผลกล้วยจะมีขนาดยาวตั้งแต่ 25-50 เซนติเมตร เมื่อผลยังอ่อนจะมีเหลี่ยม แต่เมื่อผลแก่ขึ้นผลจะเริ่มไม่มีเหลี่ยม ลักษณะผิวเผินคล้ายกล้วยหอมขนาดใหญ่และยาว เป็นกล้วยที่มีแป้งมากแต่หวานน้อย เนื้อในผลแน่น ไส้กลางแข็ง มีกลิ่นหอมคล้ายกล้วยหอม แต่ไม่หวานนักจึงไม่นิยมรับประทานผลสด

กล้วยงาช้างเป็นกล้วยที่แตกหน่อปริมาณมาก โดยหน่อขนาดใหญ่จะแทงหน่อห่างจากโคนต้นพันธุ์ มีโคนหน่ออยู่ใต้ดิน เติบโตเป็นต้นกล้วยต้นใหม่ให้ผลที่มีขนาดใหญ่คล้ายต้นแม่พันธุ์ ส่วนหน่ออีกชนิดคือหน่อที่แทงขึ้นเหนือดินบริเวณข้างลำต้นเดิม เมื่อต้นหลักให้ผลแล้วตายไป หน่อเล็กๆเหล่านี้ จะแยกออกจากต้นแม่และไหลไปยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อเติบโตเป็นต้นใหม่ต่อไป ทำให้เกิดการขยายพันธุ์ขึ้นตามธรรมชาติแต่จะให้ผลที่มีขนาดเล็กกว่าต้นแม่พันธุ์

สำหรับเพื่อนๆ เกษตรกรที่สนใจจะนำต้นกล้วยงาช้างมาปลูกนั้น มีวิธีการและขั้นตอนการปลูกและดูแลเหมือนกล้วยทั่วๆ ไป ที่เราปลูกกัน คือปลูกในดินที่ระบายน้ำได้ดี หมั่นรดน้ำไม่ให้ดินแล้งเกินไป และสิ่งสำคัญคือไม้ค้ำลำต้น เพราะเมื่อออกผลแล้วต้องค้ำรับน้ำหนักของเครือกล้วยให้ได้อย่างดีครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook