สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

กล้วยหมูสัง ไม้ในวงศ์กระดังงา

กล้วยหมูสัง ภาษาอังกฤษ Uvaria grandiflora แม้ว่าจะมีชื่อที่มีคำว่ากล้วย แต่เป็นไม้ในวงศ์กระดังงาซึ่งเป็นวงศ์เดียวกันกับน้อยหน่า  มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน ประเทศในกลุ่มอินโดจีนและนิวกินี พบได้ทั่วไปในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศจีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา เวียดนามและไทย  เป็นที่รู้จักกันมากในเขตปกครองตนเองกว่างซีและมณฑลกวางตุ้งของประเทศจีน เป็นพืชที่เราอาจจะไม่ค่อยรู้จักมากนัก โดยจะพบได้บ้างในป่าดิบชื้นแถบภาคใต้ของประเทศไทย

ต้นกล้วยหมูสัง เป็นไม้เถา แตกเถามาก กิ่งก้านสาขาหนาแน่น มีขนสีน้ำตาลอ่อนปกคลุมกิ่งอ่อน เนื้อไม้มีความเหนียวและแข็ง ใบเดี่ยวสีเขียวแก่แตกเรียงกันแบบสลับ ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่ขอบขนานปลายแหลมคล้ายหอก ขนาดใบกว้าง 4-9 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-24 เซนติเมตร แผ่นใบเกลี้ยง จะมีขนบางขึ้นที่เส้นกลางใบและเส้นแขนง ส่วนท้องใบจะมีขนอ่อนปกคลุมบางๆ ไปทั่ว  ก้านใบยาว 4-8 เซนติเมตร แตกดอกเดี่ยวสีแดงกล่ำบริเวณปลายกิ่ง มีกลิ่นหอมตอนกลางคืน เส้นผ่านศูนย์กลางของดอกที่โตเต็มที่ประมาณ 6-10 เซนติเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 1-5 ซม. กลีบดอกเรียงกัน 2 ชั้น แต่ละชั้นมีกลีบเลี้ยง 3 กลีบ กลีบดอกยาวรีปลายป้าน ขอบขนาน กลีบหนา กลีบวงในจะเล็กกว่ากลีบดอกวงนอก มีกลีบเลี้ยงสีเขียวจำนวน 3 กลีบ ผิวบาง ทรงสามเหลี่ยมโอบล้อมโคนดอก ตรงกลางดอกมีเกสรตัวผู้จำนวนมากกระจุดตัวกันแน่นเป็นทรงกลม สีส้มและกลายเป็นสีแดงเมื่อแก่เต็มที่ ส่วนเกสรตัวเมียจะมีปลายยอดที่บานคล้ายรูปดอกลำโพง มีเยื่อเหนียวสีเหลืองแก่

ผลกล้วยหมูสังจะให้ผลย่อยจำนวนระหว่าง 6-15 ผลเกาะตัวในพวงเดียวกันเป็นกระจุก ผลย่อยมีลักษณะผลยาว บางผลอาจเว้าตรงกลางผลทำให้มีลักษณะคล้ายมะขามสั้นๆ มีตุ่มเล็กๆและขนอ่อนบ้างบริเวณเปลือกของผล ผลจะมีสีเหลืองปนส้มเมื่อสุก ส่วนผลอ่อนจะมีสีเขียว สามารถรับประทานผลสดและนำไปดองได้ กลางผลมีเมล็ดจำนวนมาก ผลมีกลิ่นหอม เนื้อผลจะมีสีเหลืองระหว่างเนื้อผลและเมล็ดจะมีเมือกสีเหลือง

ปัจจุบันได้มีการนำต้นกล้วยหมูสังมาเพาะขยายพันธุ์เพื่อใช้เป็นไม้เลื้อยประดับที่ให้ความโดดเด่นของดอกและผลที่มีสีสันสดใสงามตาและยังมีกลิ่นหอมละมุนสร้างเสน่ห์ให้แก่บ้านเรือน หลายบ้านใช้ปลูกเพื่อคลุมซุ้มประตูหรือโรงรถ ได้ทั้งร่มเงาและความงาม และยังสามารถนำเถาวัลย์มาใช้ทำเครื่องเรือนและเครื่องจักสานแทนหวายได้ โดยการขยายพันธุ์นั้นสามารถทำได้ทั้งการปักชำกิ่ง ตอนกิ่ง และการเพาะเมล็ด และปลูกในดินร่วนซุยที่ระบายน้ำได้ดี แสงแดดส่องถึงทั้งวันและรดน้ำอย่างเหมาะสม

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook