สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

กะหล่ำดาว จากที่สูง สู่จานสุขภาพ

กะหล่ำดาว ผักจิ๋วที่กำลังเป็นที่นิยมของตลาดในปัจจุบัน เป็นพืชผักในกลุ่มเดียวกับคะน้า กะหล่ำดอกและผักกาด มีลักษณะคล้ายกะหล่ำปลีขนาดเล็กมีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีแคลอรี่ต่ำแต่ให้ไฟเบอร์สูง มีวิตามินเคสูง กระตุ้นการทำงานของเลือดและกระดูก ปริมาณวิตามินซีที่สูงช่วยปรับสมดุลร่างกายเสริมภูมิคุ้มกัน และกระตุ้นการดูดซึมธาตุเหล็กไปใช้งานได้ดี ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรัง ทั้งเรื่องเบาหวาน ความดันโลหิตสูงและไขมันในเส้นเลือด

เมนูกะหล่ำดาวที่เป็นนิยมในประเทศไทยเราคือ กะหล่ำดาวน้ำมันหอย ที่มีวิธีการทำเหมือนกับผัดน้ำมันหอยต่างๆ แต่เปลี่ยนวัตถุดิบเป็นกะหล่ำดาวเท่านั้น บ้างก็นำไปลวกทานกับน้ำพริก หรือปรุงร่วมกับสลัดต่างๆ แต่ในต่างประเทศจะนิยมนำไปย่างหรืออบ ส่วนการรับประทานดิบนั้นสามารถนำไปทานแนมกับลายหรือยำได้เหมือนกะหล่ำปลีแต่ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยไทรอยด์ เพราะในกะหล่ำดาวดิบมีสาร Goitrogen ที่จะทำให้เกิดโรคคอพอกได้

กะหล่ำดาวมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศเบลเยี่ยม จึงมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Brussels Sprouts ตามชื่อเมืองหลวงของประเทศเบลเยี่ยม มีลักษณะลำต้นสูง 50-120 เซนติเมตร มีหน่อกลมแทงออกมาระหว่างปล้องหรือตาข้าง คล้ายกะหล่ำปลีจิ๋วเข้าปลีห่อตัวกันแน่น แตกออกมารอบลำต้น เป็นพืชเมืองหนาวที่ต้องนำเมล็ดพันธุ์มาจากยุโรปและอเมริกา ในเมืองไทยเราต้องปลูกบนพื้นที่สูงเท่านั้นจึงจะได้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพ แหล่งปลูกที่สำคัญอยู่ที่โครงการหลวงอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ เพราะมีภูมิอากาศที่เหมาะสมในการปลูก

การปลูกกะหล่ำดาวต้องปลูกในดินที่มีอินทรียวัตถุและมีธาตุไนโตรเจนสูง มีความเป็นกรด-ด่าง 60.-6.8 และดินต้องระบายน้ำได้ดีด้วย การเตรียมดินหลังจากไถดะตากดินแล้ว ให้ผสมปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกคลุกเคล้าเข้ากับดินเพื่อให้มีธาตุอาหารเหมาะสมต่อการเติบโตของพืช แล้วค่อยย้ายต้นกล้าหลังจากหยอดเมล็ดในถาดเพาะแล้ว ประมาณ 2-3 สัปดาห์ เว้นระยะปลูกประมาณ 50-100 เซนติเมตร เมื่อต้นพืชเติบโตได้ดีและมีหน่อขนาดราว 1-1.5 เซนติเมตรให้เริ่มปลิดใบล่างออก ให้หน่อปลีได้รับแสงและทำการสังเคราะห์แสงได้ดีขึ้น ให้ผลผลิตที่ดีและมีสีสวย

การให้น้ำต้องให้น้ำเยอะ วันละ 2 ครั้งอย่างต่อเนื่อง จนถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต หลังจากปลูกประมาณ 3 เดือนให้สังเกตขนาดหัวที่เริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น จึงเริ่มตัดผลผลิตไล่ขึ้นมาจากโคนต้น และรีบนำผลผลิตใส่ลงไปในภาชนะที่ใส่น้ำและน้ำแข็งรอไว้แล้ว เพื่อให้คงความสดไว้ แล้วนำมาใส่ถุงที่เจาะรูระบายอากาศไว้เล็กน้อย เพื่อเป็นการควบคุมความชื้นของพืชให้คงอยู่ และทำการขนส่งไปยังตลาดเป้าหมายโดยบรรจุในถังที่มีความเย็นประมาณ 0 องศาเซลเซียสครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook