สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ว่าด้วยเรื่องใบกะเพรา และใบกะเพรา

ก่อนจะเริ่มเรื่องการเพาะปลูกและการใช้ประโยชน์ เราคงต้องมาตกลงกันครับ ว่า ตกลงจะเป็น ใบกะเพรา หรือใบกะเพรา กันแน่  ถ้าจะให้ถูกต้องตามหลักภาษาก็ต้องเรียกว่า “ใบกะเพรา” กันนะครับ แต่จะอย่างไรก็ตามพอถึงพืชชนิดนี้เราก็คิดถึงกลิ่นทะลวงโลก ที่ชวนจามขึ้นมาทันทีกันเลยนะครับ นอกจากนำมาปรุงอาหารให้ได้กลิ่นจัดจ้านแล้ว ยังสามารถนำมาใช้เพื่อเป็นสมุนไพรในครัวเรือนกันได้ด้วย

เรามาเริ่มที่สรรพคุณเด็ดของกะเพรากันก่อนนะครับ เผื่อเพื่อนๆ เกษตรที่ชอบเขี่ยทิ้งจะได้หันกลับมารับประทานกันครับ เอาง่ายๆ เลยครับ ใบกะเพรานี่เก่งเรื่องการขับลมเลยครับ เวลาที่เรารู้สึกไม่สบายท้อง จุกๆ แน่นๆ สั่งข้าวราดผัดกะเพรามาทานแล้วจะรู้สึกไล่ลมเลยครับ หรือบางท่านก็นำใบไปตากแห้งชงเป็นชา จิบเบาๆ สบายท้องเลย และในประเทศอินเดียยังถือว่าสมุนไพรชนิดนี้เป็นยาบำรุงชั้นยอด ทั้งขับไขมัน ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และยังเพิ่มน้ำนมสำหรับหญิงมีครรภ์ด้วยครับ เห็นไหมครับว่ากะเพราน่าปลูกแค่ไหน และที่สำคัญถ้าเราปลูกได้เองก็มั่นใจได้ว่าปลอดสารพิษแน่นอน

การปลูกต้นกะเพรานั้น ปลูกง่ายมากตามสไตล์ของผักสวนครัว ปลูกตรงระเบียงคอนโดก็ยังได้ครับ วิธีง่ายๆ คือการปักชำตัดยอดกิ่งที่เป็นดอกออกแล้วก็นำไปปักในกระถางแบบเฉียงๆ กลบด้วยดินผสมปุ๋ยคอก แล้วคลุมด้วยฟาง ให้น้ำทุกเช้าเย็น แล้วก็รอกะเพราแตกใบซัก 30 วัน ก็พอจะได้ใบมาทำอาหารง่ายๆ ละครับ

สำหรับเพื่อนๆ เกษตรกรที่อยากปลูกแซมกับพืชชนิดอื่น ก็สามารถทำได้ง่ายๆ เพราะสมุนไพรตัวนี้มีความทนแล้งสูง วิธีการเพาะก็ไม่อยากครับ นำเมล็ดไปหว่านลงบนแปลงที่เราเตรียมไว้และโรยปุ๋ยอินทรีย์ ทับด้วยฟาง ให้น้ำด้วยสายน้ำที่บางๆ จากรูฝักบัวเล็กๆ กันเมล็ดพันธุ์ตกใจครับ พอครบ 30 วันก็ถอนต้นกล้า เพื่อแยกลงดิน โดยปลูกให้ห่างราว 20 ซม. ระหว่างนั้นเราควรให้น้ำด้วยสปริงเกอร์ อย่างน้อยวันละ 10 นาที รอจนแตกใบให้เก็บเกี่ยวได้

การตัดใบเพื่อนำไปขายนั้น ควรตัดตอนเช้า เพราะพอตัดเสร็จปุ๊บ ใบกะเพราก็จะแตกยอดอ่อนมาใหม่ ภายใน 1 สัปดาห์ ตัดเยอะก็แตกใบอ่อนเยอะ มีผลผลิตสูงขึ้น โดยระยะห่างของการเก็บเกี่ยวแต่ละรุ่นจะห่างกันราวๆ 2 สัปดาห์ ซึ่งต้นกะเพราต้นหนึ่ง สามารถให้ผลผลิตใบกะเพราได้ถึง 5-8 เดือนกันเลยครับ เรียกว่าปลูกครั้งเดียวเก็บทำกำไรได้ครึ่งปีกันเลย แม้ว่าราคาขายจะไม่สูงมาก แต่การดูแลก็ไม่ยุ่งยากเช่นกัน

หากเพื่อนเกษตรกรปลูกแบบผสมผสานกับสมุนไพรอื่นๆ ก็จะทำให้มีรายได้หมุนเวียนอย่างต่อเนื่องเลยครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook