สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การขยายพันธุ์กล้วย แบบดั้งเดิมและแบบอุตสาหกรรม

การเพาะขยายพันธุ์กล้วยนั้นสามารถทำได้โดยการแยกเหง้าหรือแยกหน่อซึ่งเป็นวิธีการที่เราได้ถือปฏิบัติกันมาอย่างช้านานตั้งแต่ยุคปู่ย่าตายายกันเลย และยังถือปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน เพราะกระบวนการไม่ได้ซับซ้อนอะไรมาก หากมีต้นพันธุ์เดิมอยู่ในแปลงปลูกก็สามารถขุดเหง้าแยกออกมาปลูกเป็นกอใหม่ได้เลย และสำหรับเกษตรกรมือใหม่ก็สามารถหาเหง้าพันธุ์ดีที่มีความน่าเชื่อถือมาปลูกในสวนของตนเองได้ เหมาะสำหรับชาวสวนที่ไม่ได้ปลูกกล้วยจำนวนมากนัก แต่สำหรับการขยายพันธุ์ในเชิงอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตต้นกล้าพันธุ์ในปริมาณที่มากนั้น หากจะรอการแยกกออย่างเดียวอาจจะผลิตได้ไม่ทันความต้องการผลผลิตในตลาด ดังนั้นจึงได้มีการขยายพันธุ์กล้วยด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

การขยายพันธุ์กล้วยด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชนั้น มักจะทำในกล้วยเชิงพาณิชย์ที่มีความต้องการบริโภคสูง อย่างเช่น กล้วยหอมทอง เป็นต้น ซึ่งขั้นตอนนั้นจะต้องเริ่มตั้งแต่การชักนำการเกิดต้น ซึ่งจะต้องมีการเตรียมชิ้นส่วนของหน่ออ่อนที่มีเพียงเฉพาะลำต้นยาวราว 20 เซนติเมตร และทำการตัดใบออกจากลำต้นให้หมด พร้อมทั้งปอกกาบใบออกไป 3 ชั้น ใช้น้ำสะอาดล้างลำต้นแล้วน้ำผ้าสะอาดมาเช็ดเอาน้ำออกให้หมด ตัดโคนต้นให้ได้ระดับเดียวกันกับที่ลอกกาบออก ก่อนที่จะล้างทำความสะอาดอีกครั้งและนำแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 70% มาทาอีกครั้ง ตัดเล็มโคนต้น ผ่าชิ้นส่วนให้เหลือขนาดความกว้างไม่เกิน 3 เซนติเมตร แล้วนำสำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดฆ่าเชื้ออีกรอบ แล้วนำไปผ่านการฆ่าเชื้อด้วยสารละลายคลอเร็กซ์แล้วล้างออกด้วยน้ำกลั่นที่นึ่งฆ่าเชื้อแล้ว และทำการเฉือนบริเวณชิ้นส่วนที่เนื้อเยื่อตายแล้วออกไป ก่อนที่จะนำชิ้นส่วนไปเพาะเลี้ยงต่อไปอีก 30 วันจนผลิตายอดแล้วเลี้ยงต่อจนเป็นต้นอ่อนในที่สุด

การขยายพันธุ์กล้วยด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชจะถูกเพาะเลี้ยงในขวดที่เก็บรักษาไว้ในห้องที่ควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 25 องศาเซลเซียส และมีการควบคุมแสงอย่างถูกต้องและเหมาะสม เมื่อเกิดต้นอ่อนที่มีความสูงราว 4 เซนติเมตรจึงนำมาแยกเลี้ยงเดี่ยวก่อนที่จะนำต้นกล้าที่แข็งแรงย้ายลงปลูกต่อไป ซึ่งต้นกล้วยหอมทองที่ได้มีการขยายพันธุ์นี้จะสามารถส่งไปขายในท้องตลาดได้จะมีลำต้นที่มีความสูงตั้งแต่ 5 เซนติเมตรขึ้นไปเท่านั้น เพื่อให้ต้นกล้วยมีอัตราการรอดสูงและมีการเจริญเติบโตที่ดี  โดยการย้ายลงปลูกนั้นควรปลูกในถุงเพาะชำที่บรรจุดินผสมพีทมอสหรือขี้เถ้าแกลบเพื่อให้ระบายได้น้ำได้ดี ใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน เมื่อต้นกล้วยมีความสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตรจึงย้ายลงปลูกบนแปลงอีกครั้ง

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook