สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ผลการบริโภคน้ำมันรำข้าวที่มีระดับแกมมาโอรีซานอลสูงต่อความจำในผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อม คือ ภาวะที่สมองของผู้ป่วยมีความสามารถในด้านต่างๆ ลดน้อยและเสื่อมถอยลง ทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ความสามารถในการจดจำลดน้อยลง การใช้ภาษาที่ผิดจากปกติ ทักษะการตัดสินใจและการแก้ปัญหาที่ด้อยลง เป็นต้น ซึ่งเป็นความเจ็บป่วยที่ยังไม่มียาที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยส่วนมากพบภาวะดังกล่าวในผู้สูงอายุและมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาของการป่วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตัวเองได้ และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในที่สุด จำเป็นต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดและเกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาดูแลมากขึ้น ภาวะสมองเสื่อม มีสาเหตุจากหลายปัจจัยทั้งที่แก้ไขได้และแก้ไขไม่ได้ เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน ขาดฮอร์โมนธัยรอยด์ เนื้องอกสมอง โพรงน้ำในสมองขยายตัว โรคติดเชื้อบางชนิด เช่น ซิฟิลิสและเอดส์ เป็นต้น ดังนั้น เมื่อสงสัยว่าผู้ป่วยมีภาวะสมองเสื่อมจึงควรส่งปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมและทำการรักษาในทันที

ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย เป็นแหล่งของสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีสารที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพกระจายอยู่ในส่วนต่างๆ ของเมล็ดข้าว ตั้งแต่เปลือกหุ้มไปจนถึงรำข้าว  ซึ่งประกอบด้วยสารสำคัญ เช่น กรดฟีนอลลิก โพลิฟีนอล ฟลาโวนอยด์ วิตามินอี กรดไฟติก และ ไฟโตสเตอรอล หลายชนิด เป็นต้น สารสำคัญเหล่านี้มีคุณสมบัติช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ ได้ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูงและมะเร็งบางชนิด ช่วยลดอาการอักเสบ ลดคอเลสเตอรอล ชะลอการถูกทำลายของเซลล์ร่างกายจากการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันและป้องกันการเกิดลิ่มเลือดได้

ในตลาดปัจจุบัน นิยมบริโภคข้าวที่ผ่านการสีเอารำข้าวออกไปจากเมล็ดข้าวในระดับหนึ่ง ทำให้สารอาหารสำคัญหลายชนิดถูกขัดสีออกไปกับส่วนของรำข้าว ซึ่งส่วนของรำนี้แต่เดิมมักใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์เท่านั้น ดังนั้นการนำรำข้าวมาพัฒนาเพื่อการใช้ประโยชน์ในรูปของอาหารเพื่อสุขภาพจึงเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจ  เพราะรำข้าวเป็นวัสดุที่เหลือจากการสีข้าวที่มีองค์ประกอบของสารต่างๆ ที่มีประโยชน์ เช่น ลิพิด โปรตีน คาร์โบไฮเดรท และสารที่มีคุณค่าต่อร่างกายที่ไม่ใช่สารอาหาร (non-nutrient) ได้แก่ สาร โพลิฟีนอล, ฟลาโวนอยด์, ไฟโตสเตอรอล, วิตามินอี  และอนุพันธุ์ของวิตามินอี เช่น โทโคไตรอีนอล สารพฤกษเคมีเหล่านี้มีรายงานแสดงถึงฤทธิ์ที่มีคุณค่าต่อสุขภาพ  การรับประทานจะช่วย ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ต่างๆ ได้แก่ ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ โรคหัวใจ เบาหวาน และป้องกันมะเร็ง (Jariwalla, 2001; Wilson et al., 2007)

การศึกษาของ  Burg และคณะ (Burg et al., 2013) ได้แสดงให้เห็นว่าในหนูเม้าส์ สารไฟโตเสตอรอล โดยเฉพาะ stigmasterol สามารถป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) ได้ โดยสารสกัดจากรำข้าวยังสามารถเสริมการทำงานของไมโตคอนเดรีย (mitochondria) ในสมอง ซึ่งเป็น organelle ที่สำคัญในการสร้างพลังงานสำหรับเซลล์ประสาท (Hagl et al., 2013) นอกจากนี้ยังมีรายงานการวิจัยของ Jha และคณะ(Jha, et.al., 2017) พบว่า แกรมมาโอริโคซานอล ช่วยเพิ่มความจำ (spatial cognitive behavior) และเพิ่มการส่งกระแสประสาท (synaptic connectivity) แล้วยังช่วยป้องกันโครงสร้างในสมองไม่ให้เสียหาย จากการศึกษาต่างๆ นี้ แสดงถึงแนวโน้มที่ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่มีไฟโตเสตอรอล น่าจะมีประโยชน์ในการปกป้องเซลล์ประสาทมิให้เกิดการถูกทำลายและเกิด neurodegenerative disorders  ได้  จากผลการศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ต่อพฤติกรรม และการแสดงออกทางอารมณ์ รวมทั้งผลต่อการเรียนรู้และความจำ จึงเป็นประโยชน์เพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในทางคลินิก รวมทั้งในแง่การนำผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติซึ่งเป็นภูมิปัญญาไทยมาใช้ในการป้องกันและรักษาสุขภาพให้แก่ประชาชน

ขณะเดียวกัน จากการศึกษาในสัตว์ทดลองและในผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดย รศ.จินตนา สัตยาศัยและคณะ พบว่าน้ำมันรำข้าวที่มีระดับแกมมาโอรีซานอลสูง ซึ่งเป็นน้ำมันรำข้าวสกัดที่ได้จากการใช้กรรมวิธีพิเศษมีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดและเพิ่มความจำได้ เมื่อผู้ป่วยเบาหวานรับประทานน้ำมันรำข้าวที่มีระดับแกมมาโอรีซานอลสูงในขนาด 15 มิลลิลิตร/วัน เป็นเวลา 2 เดือน

สวก. จึงสนับสนุนทุนวิจัยแก่คณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “ผลการบริโภคน้ำมันรำข้าวที่มีระดับแกมมาโอรีซานอลสูงต่อความจำในผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม” โดยมี ผศ.ดร.พ.ญ. คัชรินทร์ ภูนิคม เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย เพื่อการศึกษาผลการเพิ่มความจำในผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมจากการรับประทานน้ำมันรำข้าวที่มีระดับแกมมาโอรีซานอลสูง เพื่อประเมินประสิทธิภาพในการรักษาและความปลอดภัยของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมจากการรักษาด้วยการบริโภคน้ำมันรำข้าวที่มีระดับแกมมาโอรีซานอลสูง หากผลการศึกษาวิจัยพบว่าน้ำมันรำข้าวที่อุดมด้วยแกมมาโอรีซานอลมีฤทธิ์เพิ่มความจำได้และไม่เป็นพิษเมื่อผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมรับประทานต่อเนื่องกัน 6 เดือน จะทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกได้มีการรักษาทางเลือกเพิ่มขึ้น และนำผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากผลผลิตภาคเกษตรกรรมไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook