สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อให้ได้ไหมคุณภาพ

การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป็นการนำต้นหม่อนมาใช้ประโยชน์และก่อให้เกิดมูลค่าสูงจากแต่เดิมที่ปลูกไว้เพื่อนำใบมาใช้ทำยาสมุนไพรและชาใบหม่อน เพื่อลดความวิตกกังวล คลายเครียด ลดอาการร้อนใน ขับพิษไข้ และยังได้นำสารสกัดจากส่วนของกิ่งและลำต้นหม่อนไปใช้เป็นส่วนผสมของเวชสำอางบางชนิดอีกด้วย การปลูกหม่อนเพื่อเลี้ยงไหมนั้นจะต้องคำนึงถึงการวางแผนการจัดการสวนหม่อนไปจนถึงการเลี้ยงไหมในทุกขั้นตอน เพื่อที่จะทำให้เกิดไหมคุณภาพดีและขายได้ราคาสูง

การปลูกหม่อนเพื่อเลี้ยงไหมจะมุ่งเน้นให้ต้นหม่อนให้ใบเพียงพอและมีธาตุอาหารเหมาะต่อการเจริญเติบโตแข็งแรงของไหมในแต่ละช่วงวัย เพื่อให้หนอนไหมให้ผลผลิตที่มีคุณภาพและมีปริมาณสูง คุ้มค่าการลงทุน การคัดเลือกพันธุ์ต้นหม่อนจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงพันธุ์ไหมที่ต้องเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตดี มีความแข็งแรง เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเหมาะสม การจัดสร้างห้องเลี้ยงไหมให้เหมาะสม การควบคุมความชื้นและอุณหภูมิที่เอื้อต่อการเติบโตของหนอนไหม

การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมนั้นจะพบได้มากในจังหวัดต่างๆ แถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เป็นการเกษตรที่ทำควบคู่กันไป เพราะหนอนไหมนั้นจะกินใบหม่อนเป็นอาหารเท่านั้น เริ่มตั้งแต่การเลือกพันธุ์หม่อนที่เหมาะสม และทำการเตรียมแปลงปลูกหม่อนดังเช่นการเตรียมแปลงปลูกพืชชนิดอื่น คือควรมีการไถดินพบลิกขึ้นมาตากแดดฆ่าเชื้อโรคและกำจัววัชพืชราว 7 วัน ก่อนที่จะทำการไถพรวนและยกแปลง เว้นระยะระหว่างแปลงราว 1-2 เมตร แล้วนำกิ่งพันธุ์หม่อนที่สมบูรณ์แข็งแรงที่ตัดเป็นท่อนๆ มาปักชำลงบนแปลงที่ได้ขุดหลุมและผสมปุ๋ยคอกรอไว้แล้ว ก่อนที่จะนำดินมากลบบางๆ และรดน้ำให้พอชุ่มวันละ 2 ครั้ง เติมปุ๋ยคอก 1 ครั้งต่อเดือน เมื่อต้นหม่อนมีอายุได้ 6 เดือนจึงสามารถจะนำใบไปเป็นอาหารเลี้ยงหนอนไหมได้

หลังจากปลูกหม่อนแล้วจะต้องจัดสร้างพื้นที่เลี้ยงไหมขนาดราว 8*10 เมตร นำตัวอ่อนไหมวัยสามจากแหล่งพ่อแม่พันธุ์ดีที่เชื้อถือได้มาเลี้ยงในพื้นที่เลี้ยง ตัดยอดหม่อนมาวางไว้เป็นอาหารของหนอนไหมวันละ 2 ครั้ง เมื่อหนอนไหมเริ่มโตจึงเพิ่มจำนวนยอดใบหม่อนและเพิ่มการให้อาหารเป็น 3-4 ครั้งต่อวัน โดยไม่ควรให้มากเกินไปเพราะหากหนอนไหมกินใบหม่อนไม่หมด จะกลายเป็นของเสียและเกิดเชื้อโรคได้ รอจนไหมเริ่มพ่นเส้นใยสร้างรังไหมกลายเป็นดักแด้ เมื่อเริ่มเป็นดักแด้ได้ราว 2-3 วันจึงทำการลอกรังไหมออกจากจ่อด้วยความพิถีพิถันและเข้าสู่กระบวนการสาวไหมต่อไป

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook