สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การพัฒนาโปรแกรมต้นแบบ สำหรับการวางแผนการเพาะปลูกที่เหมาะสมภายใต้ข้อจำกัดทางด้านน้ำ

น้ำ คือหัวใจสำคัญในการทำการเกษตร และการเกษตรคือแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ ซึ่งในแต่ละประเทศกำลังให้ความสำคัญกับความมั่นคงอาหารและการผลิตจากภาคการเกษตร เพื่อให้เกิดผลผลิตที่มีคุณภาพสูงและมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคด้วยต้นทุนที่เหมาะสม ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรจึงเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ในประเทศไทยมีปริมาณที่ดินถือครองเพื่อการเกษตรสูงถึงร้อยละ 41 จากปริมาณพื้นที่ของทั้งประเทศ และมีแนวโน้มจะขยายตัวมากยิ่งขึ้น แต่ปัจจุบันมีพื้นที่ชลประทานที่สนับสนุนภาคการเกษตรได้ประมาณ ร้อยละ 17.8 ในขณะที่พื้นที่ร้อยละ 72.2 ต้องพึ่งพิงแหล่งน้ำธรรมชาติ ทั้งจากแหล่งน้ำฝนและแหล่งน้ำบาดาล ซึ่งมีปริมาณไม่แน่นอนและส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตจากภาคการเกษตรอย่างยิ่ง

แม้ว่าการบริหารน้ำเพื่อการเกษตรเป็นหน้าที่หลักของการชลประทาน ที่ต้องส่งน้ำไปยังแปลงเกษตรให้ทันเวลาต่อความต้องการของพืช แต่จากการเพิ่มขึ้นของประชากรและการเติบโตของสภาวะเศรษฐกิจทำให้มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้นทั้งในชุมชนและภาคอุตสาหกรรม ทำให้ทรัพยากรมีไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคจนเกิดการแก่งแย่งน้ำกันขึ้นโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีปริมาณจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สวก. จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การพัฒนาโปรแกรมต้นแบบสำหรับการวางแผนการเพาะปลูกที่เหมาะสมภายใต้ข้อจำกัดทางด้านน้ำ (Crop Optimization Planner: COP)” โดยมี ผศ.ดร.ปริดา จิ๋วปัญญา เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย เพื่อพัฒนาโปรแกรมที่จะช่วยเกษตรกรในการวางแผนและหาปริมาณพื้นที่เพาะปลูกของพืชแต่ละชนิดปริมาณน้ำที่เหมาะสม และรายได้ที่คาดการณ์ว่าจะได้รับสูงสุด ภายใต้ข้อจำกัดทางด้านน้ำ โดยการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์และเครื่องมือการแก้ปัญหาสำหรับออกแบบการวางแผนการเพาะปลูกและพัฒนาขึ้นเป็นโปรแกรมต้นแบบที่ประกอบด้วย

  • User Interface คือส่วนที่ใช้ติดต่อกับผู้ใช้งาน โดยแบ่งเป็น ส่วนที่ใช้ในการป้อนข้อมูลเบื้องต้นลงไปในโปรแกรมและแสดงภาพหรือแสดงคําตอบจากการแก้ปัญหาให้แก่ผู้ใช้งาน
  • Optimization คือส่วนที่ใช้ในการวิเคราะห์หารูปแบบการวางแผนเพาะปลูกที่เหมาะสมภายใต้ข้อจํากัดทางด้านน้ำ โดยใช้แบบจําลองโปรแกรมเชิงเส้นและเลือกใช้วิธีการทาง Metaheuristic เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาแบบจําลองโปรแกรมเชิงเส้น เพราะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว
  • Data collection คือส่วนของการเก็บข้อมูลที่สำคัญที่ใช้สำหรับการออกแบบโปรแกรม ได้แก่ ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับพืชและขนาดที่เพาะปลูกจากกลุ่มเกษตรผู้ใช้น้ำจากแหล่งชลประทานอ่างเก็บน้ำ ห้วยแม่ท้อ อำเภอเมือง จังหวัดตาก และ ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับปริมาณน้ำที่จัดสรรพื้นที่การเกษตร จากชลประทานห้วยแม่ท้อ อำเภอเมือง จังหวัดตาก

โปรแกรมต้นแบบสำหรับการวางแผนการเพาะปลูกที่เหมาะสมภายใต้ข้อจำกัดทางด้านน้ำ (COP) ที่เป็นผลสำเร็จจากงานวิจัยโครงการนี้ เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่ช่วยให้เกิดการใช้น้ำที่มีอย่างจำกัดให้ครอบคลุมพื้นที่การเพาะปลูกสูงสุด และยังยกระดับผลผลิตให้มีปริมาณที่สูงขึ้น มีราคาขายในท้องตลาดที่สูงขึ้น ลดอัตราการสูญเสียและเสียหายของผลผลิตให้เหลือน้อยที่สุด และทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่สามารถนำข้อมูลที่ได้จากโครงการวิจัยนี้ไปใช้เพื่อส่งเสริมการเพาะปลูกและบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook