สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศร่วมกับการอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำสำหรับวางแผนปลูกข้าวในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งของจังหวัดขอนแก่น นครสวรรค์ และน่าน

สถานการณ์ภัยแล้งในประเทศไทยในปัจจุบันทวีความรุนแรงขึ้น มีพื้นที่แล้งซ้ำซากประมาณ 56 ล้านไร่กระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การเกษตรในประเทศไทยต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก และหลายพื้นที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงและขาดแคลนน้ำ ทำให้น้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืช สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2562 ได้เริ่มส่งสัญญาณให้เห็นจากฤดูร้อนที่มาเร็วและยาวนานขึ้น ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำฝนและระดับน้ำในแหล่งเก็บน้ำต่างๆ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวนาปรังและอ้อยได้รับความเสียหาย กระทบต่อรายได้ของเกษตรกรและก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องมีการติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับระยะเวลาและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการติดตามสภาพอากาศ ระดับรุนแรงของภัยแล้ง ที่อาจผันแปรแตกต่างกันไปในแต่ละเดือน

นอกจากนี้ ข้อมูลดินแต่ละประเภท โดยเฉพาะกลุ่มดินเนื้อหยาบและดินละเอียด มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับศักยภาพในการกักเก็บน้ำในดิน ตลอดจนประสิทธิภาพการใช้น้ำ การจัดการดินที่เหมาะสมสำหรับพืชในดินเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากสามารถยืดอายุการกักเก็บน้ำในดิน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในดินโดยพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูแล้ง นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงปัญหาดินต่างๆ เช่น ดินเสื่อมโทรม ดินทราย ดินเปรี้ยว ดินตื้น ดินเค็ม ขาดความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากความสามารถในการกักเก็บน้ำในดินแตกต่างกันไป จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดลำดับความสำคัญและแก้ไขปัญหาเหล่านี้โดยเร่งด่วน

กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานเพื่อจัดหาน้ำให้เกษตรกรที่อาศัยน้ำฝนและแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ทางเกษตร และสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรได้โดยลดภาวะการขาดแคลนน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในพื้นที่เกษตรให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามในบางพื้นที่ปริมาณน้ำในดินและในบ่อมีไม่เพียงพอในช่วงฤดูแล้งและบางพื้นที่มีน้ำมากเกินไปในฤดูฝน ความผันผวนของน้ำที่มีอยู่ ประกอบกับการจัดการอนุรักษ์ดินและน้ำที่ไม่ดี อาจทำให้เกิดการพังทลายของดินและแอ่งน้ำตื้นได้ ความไม่แน่นอนนี้ทำให้เกษตรกรคาดเดาสถานะของแหล่งน้ำและดินได้ยาก และอาจนำไปสู่การเลือกพืชที่ไม่เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่

ดังนั้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดในการบริหารจัดการฟื้นฟูดินและน้ำเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตพืชอย่างมีประสิทธิภาพ  และสามารถวางแผนการใช้น้ำให้เป็นปัจจุบันและทันสมัยภายใต้สถานการณ์ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง  สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศร่วมกับการอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำสำหรับวางแผนปลูกข้าวในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งของจังหวัดขอนแก่น นครสวรรค์ และน่าน” เพื่อศึกษาและจัดทำฐานข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อวางแผนปฏิทินเพาะปลูกข้าวร่วมกับการอนุรักษ์ดินและน้ำ การจัดการดินที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในการปลูกข้าวในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ตลอดจนศึกษาเทคโนโลยีการวางแผนปฏิทินเพาะปลูกข้าวร่วมกับการอนุรักษ์ดินและน้ำ การจัดการดินที่เหมาะสมต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในการปลูกข้าว ทัศนคติ การยอมรับของเกษตรกร และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ รวมทั้งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการปรับปรุงและพัฒนาแบบจำลองความต้องการใช้น้ำของข้าว  แบบจำลองการคาดการณ์ความชื้นในดิน และแบบจำลองปฏิทินการปลูกข้าวในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 ปีที่ 1 (ปี 2564) การศึกษาและจัดทำฐานข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อวางแผนปฏิทินเพาะปลูกข้าวร่วมกับการอนุรักษ์ดินและน้ำ การจัดการดินที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในการปลูกข้าว โดยศึกษาในพื้นที่ปลูกข้าวในที่ลุ่มที่เป็นดินเนื้อหยาบ (ดินทราย) และกลุ่มเนื้อดินละเอียด (ดินร่วน และดินเหนียว)ในจังหวัดขอนแก่น  จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดน่าน ตามลำดับ โดยเก็บข้อมูลเชิงพื้นที่ประกอบด้วย สถานการณ์และผลกระทบจากภัยแล้ง ข้อมูลดิน  การติดตามความชื้นดินรายวัน  ดัชนีค่าดรรชนีพืชพรรณ (NDVI) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สถานภาพการกักเก็บน้ำในดิน แหล่งน้ำ การใช้น้ำของข้าว  การจัดการดิน น้ำ ปุ๋ย ปฏิทินการปลูกข้าว การเจริญเติบโต องค์ประกอบผลผลิตข้าว ข้อมูลรายได้ เศรษฐกิจ สังคม

ระยะที่ 2 ปีที่ 2-3 (ปี 2565-66)  ศึกษาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปฏิทินเพาะปลูกข้าวร่วมกับการอนุรักษ์ดินและน้ำ การจัดการดินที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในการปลูกข้าวในพื้นที่โดยศึกษาในรูปแบบแปลงศึกษาของเกษตรกรในพื้นที่  และประเมินผลทดสอบตามปัจจัยสนับสนุนการปรับปรุงและพัฒนาแบบจำลองที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ความต้องการใช้น้ำของข้าวตามประเภทดิน การคาดการณ์ความชื้นในดินและแหล่งน้ำ  และปฏิทินปลูกข้าว และประเมินทัศนคติการยอมรับของเกษตรกรในพื้นที่ผ่านกระบวนการถ่ายทอดความรู้รูปแบบการประชุมกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสำหรับสามารถวางแผนการเพาะปลูกข้าวในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในพื้นที่ และถ่ายทอดขยายสู่ชุมชนพื้นที่ใกล้เคียง และสร้างต้นแบบโดยมีเกษตรกรเป็นหลักเพื่อการขยายผลต่อไป

องค์ความรู้ที่ได้รับจากงานวิจัยนี้ ทำให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาสามารถนำมาประยุกต์เพื่อวางแผนปฏิทินเพาะปลูกข้าวร่วมกับการจัดการดินที่เหมาะสม และพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในการปลูกข้าวในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง  ตลอดจนแก้ปัญหาและลดระดับความรุนแรงความเสียหายของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ประสบปัญหาทั้งในระดับภาคและระดับประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวได้  แก้ปัญหาความเดือดร้อนเกษตรกร  สร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประเทศอย่างยั่งยืนสืบไป

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook