สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การเพาะเห็ดสร้างรายได้

การเพาะเห็ดเป็นอาชีพ เป็นหนึ่งในอาชีพในฝันของคนทำงานที่อยากจะผันตัวมาเห็นเกษตรกร โดยในปัจจุบันผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพหันมาบริโภคเห็ดต่างๆ มากขึ้น รวมทั้งมีการนำเห็ดไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ แทนเนื้อสัตว์ แต่การที่จะเพาะเห็ดให้มีผลผลิตขายได้ตลอดทั้งปี มีขนาดและคุณภาพที่ตลาดต้องการนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจรายละเอียดอย่างมาก เกษตรกรหลายรายหันมาผลิตเห็ดเป็นอาชีพเสริมเพราะมีรายได้ดี  โดยเฉพาะเห็ดที่เป็นที่ต้องการของตลาด ยกตัวอย่างเช่น เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า เห็ดหูหนู เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดฟาง เห็ดภูฐาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเห็ดพื้นบ้านอย่างเห็ดลมและเห็ดขอนขาวที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน และเห็ดสมุนไพรที่กำลังมาแรงก็เป็นกลุ่มที่จะละเลยไม่ได้เพราะมีตลาดรองรับชัดเจนและมีราคาที่สูง อย่างเช่น เห็ดหลินจือ เป็นต้น

เริ่มจากการเพาะเห็ดเศรษฐกิจที่ตลาดรองรับมีขนาดใหญ่ อย่างเห็ดนางฟ้าภูฐาน ซึ่งเป็นเห็ดที่เพาะเลี้ยงง่าย สามารถเพาะเลี้ยงได้ในวัสดุเพาะที่เป็นขี้เลื่อยไม้ยางพาราที่สามารถให้ผลผลิตได้ถึง 4 เดือน คุ้มค่าการลงทุนกว่าการเพาะด้วยฟางที่มีระยะเวลาให้ผลผลิตสั้นกว่า ส่วนเห็ดฟางนั้นจัดเป็นเห็ดเศรษฐกิจทีขายได้ราคาดีและหาวัสดุเพาะในท้องที่ได้ง่ายกว่า ใช้ได้ทั้งฟางแห้ง กากถั่ว ขี้เลื่อยก้อนที่เคยเพาะเห็ดมาแล้ว และยังสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้รวดเร็ว จึงมีคนเพาะกันมาก

สำหรับการเพาะเห็ดพื้นเมืองที่แต่เดิมเคยเติบโตตามธรรมชาติ ตามฤดูกาล กว่าจะได้รับประทานอาจจะต้องเดินเข้าป่าเพื่อไปหามาขายในตลาด ปัจจุบันได้มีการพัฒนาให้สามารถเพาะได้ในถุงพลาสติกที่บรรจุวัสดุเพาะเป็นขี้เลื่อยไม้ยางพาราด้วยการควยคุมอุณหภูมิและความชื้นให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเห็ด เช่นเดียวกับการเพาะเห็ดสมุนไพรอย่างเห็ดหลินจือและเห็ดหอม

การเพาะเห็ดในถุงพลาสติกนั้นจะเริ่มจากการเติมอาหารเพาะลงในถุงพลาสติกชนิดที่ทนต่อความร้อนประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของถุงแล้วกดอาหารเพาะให้แน่น ไล่อากาศออกแล้วสวมคอพลาสติกแล้วรัดยางให้แน่น ปิดทับด้วยสำลีและฝาครอบแล้วนำไปนึ่งไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมงด้วยความร้อนที่ 90-100 องศาเซลเซียส แล้วพักไว้รอจนถุงเย็นตัวลง ก่อนที่จำมาเติมหัวเชื้อเห็ดในห้องปลอดเชื้อ แล้วนำไปบ่มรอจนเส้นใยเจริญก่อตัวเป็นดอกเห็ดแล้วจึงเปิดถุงเพื่อดอกเปิดออกและเจริญได้เต็มที่ โดยสถานที่ที่จะใช้ในการเปิดดอกต้องเป็นสถานที่มีลมโกรก มีความชื้นเหมาะสมและสะอาด รวมทั้งขนาดพื้นที่ของโรงเรือนควรเป็นขนาดที่เหมาะสมกับจำนวนของเห็ดที่เราเพาะเลี้ยง ไม่แออัดเดินไปเพราะจะทำให้อากาศไม่ถ่ายเทและควบคุมความชื้นได้ยาก

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook