สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การเลี้ยงแมงสะดิ้ง เพื่อการส่งออก

การเลี้ยงแมงสะดิ้ง หรือ จิ้งหรีดบ้าน อาหารพื้นบ้านของพี่น้องชาวอีสานที่กลายเป็น Novel Food กำลังเป็นเรื่องที่เกษตรกรหลายรายให้ความสนใจ แต่ก่อนที่จะไปสู่เนื้อหาเรื่องการเลี้ยง เรามารู้จักชื่อเสียงเรียงนามและความเป็นมากันก่อนนะครับ แมงสะดิ้ง ภาษาอังกฤษเรียกว่า House Cricket ถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแพร่พันธุ์ไปในทวีปยุโรป อเมริกาเหนือและเอเชียตะวันออกผ่านการปนเปื้อนไปกับการขนส่งต้นไม้และพันธุ์พืช ปัจจุบันกลายเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน จนทำให้เกิดการยอมรับเป็นแมลงที่รับประทานได้และกลายเป็นแมลงเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง เนื่องจากเป็นจิ้งหรีดที่ให้ไข่เยอะ มีความมันและมีโปรตีนสูง ใช้เวลาในการเลี้ยงไม่นานนัก เมื่อเทียบกับสัตว์อื่นที่เป็นแหล่งโปรตีน ทำให้ใช้ต้นทุนการผลิตต่ำ กลายเป็นแหล่งอาหารใหม่ที่แหล่งโปรตีนทดแทนที่มีตลาดต่างประเทศรองรับ

ลักษณะโดยทั่วไปของแมงสะดิ้ง จะเป็นจิ้งหรีดตัวเล็ก มีพฤติกรรมการเคลื่อนไหวช้ากว่าจิ้งหรีดทั่วไป ขนาดลำตัวกว้าง 0.5 เซนติเมตรและมีความยาวของลำตัวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร มีน้ำหนักตัวเฉลี่ยตัวละ 0.50 กรัม ตัวผู้จะมีลำตัวสีน้ำตาลเข้มปนเหลือง ส่วนตัวเมียจะมีสีที่อ่อนกว่าตัวผู้ บริเวณหัวและลำตัวด้านหลังจะมีลายปกคลุมไปทั่ว ปลายท้องมีแพนหาง ตามธรรมชาติมักอาศัยอยู่ตามซากใบไม้ ไม่ได้อยู่ในรูแบบจิ้งหรีดบางชนิด มีพฤติกรรมออกหากินตอนกลางคืน

สำหรับการเลี้ยงแมงสะดิ้งในบทความนี้จะกล่าวถึงการเลี้ยงตามมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีดเพื่อการส่งออก ซึ่งจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP หรือการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี ซึ่งถือเป็นขั้นแรกจากขั้นตอนทั้งหมด 3 ขั้นตอน คือขั้นตอนแรกต้องได้รับ GAP ขั้นตอนถัดมาคือขึ้นทะเบียนโรงงาน และท้ายที่สุดคือ การได้รับใบรับรองสุขอนามัยเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของคู่ค้าต่างประเทศ

การเลี้ยงแมงสะดิ้งเพื่อให้สามารถขอรับการรับรอง GAP นั้น จะต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนด ที่สำคัญคือ สถานที่ตั้งของฟาร์มจะต้องอยู่ห่างจากแหล่งที่มีโอกาสเกิดการปนเปื้อนที่เป็นอันตรายเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อจิ้งหรีดและผู้บริโภคในเรื่องความปลอดภัยในการบริโภค ขนาดของฟาร์มไม่มีการเลี้ยงที่แออัดเกินไป มีการวางแผนเรื่องผังต่างๆ ได้อย่างเป็นสัดเป็นส่วน โรงเรือนที่ปลูกสร้างต้องแข็งแรง ทนทาน สามารถบำรุงรักษาและทำความสะอาดได้ง่าย ระบายอากาศได้ดี และมีวัสดุล้อมบริเวณที่เลี้ยงแมงสะดิ้งเพื่อไม่ให้ศัตรูของแมลงเข้ามาในบริเวณที่เลี้ยงแมงสะดิ้งได้ รวมถึงการจัดการฟาร์มให้เป็นไปตามคู่มือการปฏิบัติงาน การป้องกัน การควบคุมโรค รวมถึงการใช้ยาฆ่าเชื้อโรค อุปกรณ์ การกำจัดสิ่งปฏิกูลและขยะในฟาร์มที่เป็นไปตามกฎ โดยที่จะต้องมีการบันทึกข้อมูลด้านการปฏิบัติงาน การบริหารบุคลากรและกระบวนการผลิตที่ถูกต้องและตรวจสอบได้

เมื่อเราปฏิบัติตามมาตรฐานที่ทางการได้ระบุไว้ชัดเจนแล้ว จะทำให้เรามีโอกาสในการส่งออกผลผลิตยังต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง ขยายโอกาสให้แก่ธุรกิจของเราได้

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook