สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

กิ้งกือ ผู้ย่อยสลายซากแห่งระบบนิเวศ

กิ้งกือ สัตว์มากขาที่ไร้กระดูกสันหลัง ภาษาอังกฤษ ชื่อ Millipede เป็นสัตว์ที่มีจำนวนชนิดมากนับหมื่นชนิดทั่วโลก แบ่งออกไปได้ถึง 140 วงศ์  พบประวัติที่มีความเกี่ยวพันกับระบบนิเวศวิทยาและธรณีวิทยามายาวนาน โดยทำหน้าที่ช่วยย่อยสลายซากพืช กิ่งไม้ที่ผุกร่อน และซากใบไม้ที่ถมทับบริเวณโคนต้นไม้ให้กลายเป็นอินทรียวัตถุชั้นดีที่ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของพืชและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน

กิ้งกือเป็นสัตว์กินซาก บางชนิดกินซากสัตว์แต่โดยส่วนใหญ่จะพบชนิดที่กินซากพืชซากไม้ และขับถ่ายออกมาเป็นก้อนขนาดเล็กคล้ายเม็ดลูกอมหรือลูกกลอน ที่ประกอบไปด้วยสารอินทรีย์และจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อดินซึ่งสามารถนำไปบำรุงต้นพืชได้อีกต่อหนึ่ง ส่วนพัฒนาการของกิ้งกือนั้นจะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ โดยมีวงจรชีวิตตั้งแต่ 1-8 ปี บางชนิดอาศัยอยู่บนต้นไม้ บางชนิดอยู่ใต้เศษซากไม้ ใต้ก้อนหินที่ชุ่มชื้นและบางชนิดขุดรูอยู่ใต้ดิน เป็นต้น การออกหากินนั้นจะออกหากินในตอนกลางคืน โดยมีความสามารถในการหลั่งสารเคมีที่มีกลิ่นเหม็นจากต่อมใต้เปลือกผิวลำตัว เพื่อป้องกันพิษจากจุลินทรีย์ทำลายและป้องกันไม่ให้โดนทำร้ายจากสัตว์อื่น

ลักษณะของกิ้งกือสามารถแยกออกมาได้เป็นส่วนหัวและส่วนลำตัว มีขนาดลำตัวแตกต่างกันไปตั้งแต่ 2 มิลลิเมตรไปจนถึง 30 เซนติเมตร โดยบางชนิดมีขาถึง 700 ขา แต่โดยส่วนมากไม่ได้มีจำนวนขามากขนาดนั้นอาจจะพบราว 100-300 ขา และลักษณะของลำตัวของแต่ละชนิดก็แตกต่างกันมาก เช่น บางชนิดมีขนตามลำตัว บางชนิดแทบจะมองไม่เห็นขาเพราะมีลำตัวสั้นและชอบขดตัวเป็นลักษณะกลม ส่วนบางชนิดก็ไม่สามารถขดตัวได้ บางชนิดมีปากคล้ายเข็มไว้ใช้แทงดูดของเหลวจากซากพืช และยังมีแบบลักษณะลำตัวแบบแบนและทรงกระบอกอีกทั้งกิ้งกือบางชนิด เช่นกิ้งกือถ้ำนั้น ยังพบว่าไม่มีตาอีกด้วย ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพเหล่านี้ จึงทำให้คำอธิบายลักษณะของกิ้งกือมีความซับซ้อนและต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง จนเกิดการศึกษาวิจัยเพื่อระบุลักษณะและวิธานของกิ้งกือในแต่ละประเทศไว้ให้ผู้สนใจได้ศึกษาอย่างถ่องแท้

หากจะให้อธิบายถึงสัณฐานของกิ้งกือเปรียบเทียบกับตะขาบ ที่แม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มสัตว์  Myriapoda เหมือนกัน มีลักษณะใกล้เคียงกัน แต่มีสัณฐานและพฤติกรรมต่างกัน สามารถอธิบายได้ว่า เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ที่มีลำตัวยาว และแต่ละปล้องลำตัวจะมีขาอยู่ 2 คู่ มีหนวดที่สั้น ซึ่งจะแตกต่างจากตะขาบ ที่หนวดยาว และมีขาเพียง 1 คู่ต่อปล้อง และตะขาบยังสัตว์ที่กินสัตว์อีกด้วย อย่างไรก็ตามทั้งตะขาบและกิ้งกือก็ถือว่าเป็นสัตว์ตัวเล็กๆ ที่ช่วยทำให้ระบบนิเวศสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook