สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

กุยช่าย 3 ผลผลิตรองรับตลาดผักสุขภาพ

กุยช่ายหรือผักไม้กวาด เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ของกระเทียมและหัวหอม แต่ได้รับความนิยมในการใช้ใบและดอกมาปรุงเป็นอาหารทั้งรับประทานแบบผักสด ผักดอง และนำไปปรุงผ่านความร้อน ตามวัฒนธรมการรับประทานของแต่ละภูมิภาค เช่น ในประเทศจีนจะรับประทานใบสดๆ ประเทศเกาหลีจะนำไปดองเป็นกิมจิทานแกล้มกับอาหารต่างๆ เป็นต้น ส่วนในบ้านเรานั้นนิยมนำมาทานเป็นผักสดคู่กับอาหารต่างๆ หรือนำมาปรุงสุก เช่น ผัดน้ำมันหอย และที่โด่งดังที่สุดคือนำมาใส่ไส้ขนมที่ทำจากแป้งที่ชื่อว่า “ขนมกุยช่าย” ตามชื่อผัก  ด้วยความที่กุยช่ายเป็นผักที่มีแคลเซียม ธาตุเหล็กและฟอสฟอรัสสูง และยังมีวิตามินซีสูง  ทางการแพทย์จีนดั้งเดิม จึงใช้ผักชนิดเป็นยาบำรุงกำลัง ลดความเหนื่อยล้า กระตุ้นกำหนัดอีกด้วย

กุยช่าย เหง้าอยู่ใต้ดินทำหน้าที่สะสมและกักเก็บอาหารแทนหัว แล้วแตกลำต้นเป็นกอเหนือดิน มีอายุยืนนานกว่าพืชชนิดอื่นในวงศ์เดียวกัน ลักษณะใบเรียวยาวแตกจากโคนต้น ผลิดอกเป็นรูปแฉกสีขาวกอละ 3-4 ช่อ การปลูกกุยช่ายแต่ละรุ่นสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ต่อเนื่องถึง 3 ปี  จึงเป็นที่นิยมในการปลูกแซมกับพืชอื่นๆ เป็นการทำการเกษตรผสมผสาน ที่ไม่ต้องหมั่นปลูกเปลี่ยนรุ่น แต่ก็ควรต้องหมั่นกำจัดหญ้าแห้วหมูไม่ให้มากวนกุยช่ายได้

ในท้องตลาดบ้านเราจะพบกุยช่ายวางขาย 3 ประเภทคือ กุยช่ายเขียว กุยช่ายดอก และกุยช่ายขาว ซึ่งกุยช่ายทั้ง 3 ประเภทนี้มีกระบวนการผลิตเดียวกัน โดยกุยช่ายเขียว คือการที่เราเก็บเกี่ยวใบกุยช่ายก่อนออกดอก เพื่อนำไปขายให้ผู้บริโภคที่นำไปทำไส้ขนมกุยช่ายและนำไปทานคู่กับผัดไทย หรือนำไปดองนั่นเอง ส่วนกุยช่ายดอกนั้น เราจะรอเก็บเกี่ยวผลผลิตเมื่อกุยช่ายเริ่มออกดอก โดยไม่ตัดใบกุยช่ายเขียวออก ส่วนกุยช่ายที่ใช้เวลาเก็บเกี่ยวได้เร็วที่สุดคือกุยช่ายที่ขาว ซึ่งเราจะตัดเฉพาะใบมาขายเหมือนกุยช่ายเขียว ต่างกันเพียงเราจะนำพาชนะมาคลุมต้นกุยช่ายไว้ไม่ให้โดนแสง เพื่อไม่ให้ต้นกุยช่ายเกิดการสังเคราะห์แสง ทำให้ใบไม่เป็นสีเขียวแต่กลับกลายเป็นสีขาวครีม มีรสชาตอร่อยและหวานกว่ากว่ากุยช่ายเขียว ทำให้เป็นที่ต้องการตลาดและยังขายได้ราคาดีอีกด้วยครับ

ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวกุยช่ายแต่ละประเภทนั้นเป็นเรื่องที่เพื่อนๆ เกษตรกรควรใส่ใจ เพราะหากเราจะปลูกกุยช่ายเพื่อผลิตกุยช่ายขาว เราจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ภายใน 2 สัปดาห์หลังจากคลุมกันแสง และเมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จเราสามารถที่จะผลิตกุยช่ายเขียวต่อ โดยเปิดให้รับแสงเพียง 45 วัน ก็เก็บเกี่ยวผลผลิตกุยช่ายเขียวขายได้อีกรอบ แต่หากตั้งใจผลิตกุยช่ายเขียวตั้งแต่ต้น เราจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ราว 4 เดือนหลังการปลูก แล้วเว้นระยะเก็บเกี่ยวทุก 45วัน ในการเก็บเกี่ยวแต่ละรอบ  แต่หากจะผลิตดอกกุยช่ายจะต้องใช้เวลาถึง 8 เดือนในการเก็บเกี่ยวรอบแรก แล้วเว้นระยะทุก 75 วันในเก็บเกี่ยวกุยช่ายดอกแต่ละรอบครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook