สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ขมิ้นชัน ก้าวสู่อาหารเสริมชั้นยอด

ขมิ้นชันเป็นพืชในตระกูลขิง มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย และได้พัฒนามาเป็นพืชเศรษฐกิจในประเทศอินเดีย โดยใช้ส่วนของลำต้นใต้ดินมาเป็นเครื่องเทศปรุงอาหาร ถือว่าเป็นส่วนประกอบหลักของผงกะหรี่ที่ทำให้น้ำแกงมีสีเหลืองและกลิ่นหอมชวนทาน นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาแผนโบราณตามตำราอายุรเวทและระบบการแพทย์ดั้งเดิมของอินเดียเพื่อรักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง ระบบย่อยอาหาร และข้อต่อต่างๆ

ปัจจุบันขมิ้นชันได้รับการยอมรับในแพทย์แผนปัจจุบัน ว่าขมิ้นชันสกัดเข้มข้นนั้นประกอบด้วยสารเคอร์คูมินที่ออกฤทธิ์ต้านอาการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระให้ทำงานได้ดีขึ้น เสริมสร้างการเยื่อบุผนังหลอดเลือดให้แข็งแรงขึ้น ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ บรรเทาโรคข้ออักเสบ โรคซึมเศร้า โรคสะเก็ดเงิน และช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งและโรคอัลไซเมอร์ได้ด้วย โดยจากการศึกษาวิจัยพบว่า การบริโภคขมิ้นชันสกัดเข้มข้นสามารถช่วยให้ร่างกายเราดูดซึมเคอร์คูมินได้มากขึ้น สันนิษฐานว่าเมื่อเคอร์คูมินจับตัวกับไขมัน เช่น ไขมันในน้ำมันมะกอกหรือน้ำมันมะพร้าว จะทำให้ลำไส้ดูดซึมได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของเราได้

บ้านเรือนส่วนใหญ่ที่ปลูกพืชสวนครัวก็มักจะปลูกขมิ้นชันกันอยู่แล้วครับ แต่ในแง่ของการทำสวนเกษตรเพื่อขายเชิงพาณิชย์นั้น ตลาดใหญ่เราคงจะต้องมุ่งเน้นไปที่โรงงานผลิตเครื่องสำอาง เครื่องเทศ และสมุนไพร ที่ยังคงต้องการขมิ้นชันเพื่อใช้วัตถุดิบของผลิตภัณฑ์จำนวนมาก ทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ หากเพื่อนๆ เกษตรกรสามารถปลูกขมิ้นชันแบบเกษตรอินทรีย์ได้จะยิ่งเพิ่มมาตรฐานของผลผลิต ทำให้ตลาดกางแขนรับผลผลิตของเราอย่างเต็มที่เลยครับ

ขมิ้นชันที่ได้รับความนิยมปลูกคือพันธุ์สีทอง แดงสยาม และพันธุ์ด้วง ซึ่งเรียกตามรูปลักษณ์และสีผิวของขมิ้นชัน แตกหน่อแตกใบให้ผลได้ดีในช่วงหน้าฝน และจะล้มไปในหน้าแล้ง ตามประสาไม้ล้มลุก หากจะปลูกควรปลูกในดินร่วนที่มีอินทรียวัตถุสูง ในช่วงปลายเมษายนเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ใช้แหง่งที่มีตาหรือหัวแม่ในการขยายพันธุ์ โดยต้องนำไปคลุกกับ ใบพลู ตะไคร้หอมและใบเปล้าน้อยก่อนนำไปปลูก หากใช้เป็นหัวแม่ก็ปลูกเพียง 1 หัวต่อหลุม แต่หากใช้เป็นแง่งให้ใช้ 2 แง่งต่อหลุม การเตรียมแปลงดินในที่ลุ่มควรยกร่องเพื่อให้ระบายน้ำได้ดี ส่วนที่ดอนก็ไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำขังกันเท่าใดนัก รองก้นหลุมแต่ละหลุมด้วยปุ๋ยคอก แล้ววางหัวพันธุ์ลงไป แล้วจึงกลบด้วยดิน เวลาใสปุ๋ยให้ใส่ห่างจากโคนต้นราว 2-3 นิ้ว ในทุกเดือน รดน้ำทุกวันในช่วงแรกและค่อยๆ ลดลงเมื่อหัวขมิ้นชันแก่ และให้งดให้น้ำในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตเมื่อปลูกได้ 9 เดือนขึ้นไปครับ

หากมองให้กว้างๆ ไกลๆ โอกาสของพืชเครื่องเทศสมุนไพรยังมีโอกาสนำไปสู่กระบวนการแปรรูปอีกมากครับ เพื่อนๆ เกษตรกรที่สนใจลองวางแผนดีๆ รับรองยังมีโอกาสให้เราอีกมากครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook