สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ข้าวฟ่างไม้กวาด แส้เล็ก เหนียว ทน

ข้าวฟ่างไม้กวาด เป็นพืชเศรษฐกิจที่ปลูกกันมากในภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บเกี่ยวรวงข้าวฟ่างมาใช้ประโยชน์มากกว่าเมล็ดข้าวฟ่าง โดยข้าวฟ่างที่เรามักนำเมล็ดใช้ประโยชน์นั้น จะเป็นชนิดข้าวฟ่างเมล็ด ที่มีเมล็ดขนาดใหญ่และมีช่อรวงที่ใหญ่กว่าข้าวฟ่างไม้กวาด ส่วนข้าวฟ่างที่เรากำลังเขียนถึงนี้มีรวงที่เหมาะสมต่อการนำไปผลิตเป็นไม้กวาดจึงมีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า broomcorn เป็นพืชที่ปลูกกันโดยทั่วไปในประเขตอบอุ่นถึงร้อนในทุกทวีป เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและถูกนำไปใช้เป็นไม้กวาดหรือนำมาประดับตกแต่งบ้าน ในประเทศไทยเรานั้นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวฟ่างชนิดนี้จะผลิตรวงข้าวฟ่างเพื่อนำส่งให้แก่โรงงานผลิตไม้กวาดตามภูมิภาคที่มีอยู่ในหลายจังหวัด

ข้าวฟ่างไม้กวาดจะมีความแตกต่างข้าวฟ่างชนิดอื่นๆ ทั้งข้าวฟ่างเมล็ด ข้าวฟ่างหญ้าและข้าวฟ่างหวาน โดยเฉพาะในส่วนของก้านรวงมีแส้หรือแขนงที่แตกออกมาจากบริเวณโคนของรวง มีความยาวตั้งแต่ 30-90 เซนติเมตร แส้มีความเหนียวและยืดหยุ่นได้ดี ไม่ขาดง่าย ขนาดของแส้เรียวเล็ก ก้านรวงเหนียว เมล็ดข้าวฟ่างเล็กและมีเปลือกหุ้มแทบมิดเมล็ด และมีเมล็ดปริมาณน้อยมาก ดังนั้นเกษตรกรจึงได้นวดเอาเมล็ดออกจากรวงเพื่อใช้ช่อรวงผลิตเป็นไม้กวาด ส่วนเมล็ดและใบจะนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ต่อไป ส่วนของข้าวฟ่างเมล็ดซึ่งเป็นชนิดที่ปลูกกันมากในบ้านเรานั้นจะมีช่อและเมล็ดที่ใหญ่ เราจึงนำเมล็ดมาใช้เป็นอาหารคนและอาหารสัตว์ ข้าวฟ่างหญ้าจะถูกนำไปใช้เป็นหญ้าอาหารสัตว์ ส่วนข้าวฟ่างหวานจะมีน้ำหวานอยู่ภายในลำต้นจึงนำมาหีบเพื่อทำเป็นน้ำตาล น้ำเชื่อม หรือ แอลกอฮอล์ และสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ได้

ข้าวฟ่างไม้กวาดเป็นพืชที่ทนแดดและทนแล้ง ใช้เวลาไม่นานก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ โดยเฉลี่ยจะใช้ระยะเวลาราว 2-3 เดือนก็จะสามารถเก็บเกี่ยวได้ และยังมีความทนต่อโรคพืชและแมลงศัตรูพืช สามารถปลูกได้ทุกฤดู จึงทำให้มีเกษตรกรในพื้นที่ที่โรงงานผลิตไม้กวาดอยู่ใกล้เคียงหันมาผลิตข้าวฟ่างไม้กวาดเพื่อส่งให้โรงงาน โดยการปลูกนั้นจะมีการเตรียมดินเหมือนกับการปลูกพืชไร่ทั่วไป คือไถดินและพรวนดินให้เรียบร้อยก่อนที่จะผสมปุ๋ยรองพื้นและยกร่อง เมื่อยกร่องเสร็จจึงทำการหยอดเมล็ดและกลบดิน ระบบการให้น้ำให้ใช้ระบบสปริงเกอร์ เมื่อต้นกล้ามีอายุได้ประมาณ 10 วันให้ทำการถอนแยกเพื่อเว้นระยะ โดยให้แต่ละต้นห่างกันราว 10 เซนติเมตร เมื่ออายุได้ 28 วันให้พูนโคนเติมปุ๋ย เมื่ออายุครบ 65 วันจึงทำการเก็บเกี่ยวรวงสด หรือหากจะปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวเมล็ดเป็นอาหารสัตว์ควรรอให้ข้าวฟ่างไม้กวาดมีอายุถึง 90 วัน

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook