สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ข้าวเหนียวดำ ข้าวพื้นเมืองเพื่อสุขภาพ

ข้าวเหนียวดำ หรือข้าวก่ำ คือพันธุ์ข้าวสารเหนียวที่มีสีดำหุ้มอยู่บนเมล็ดข้าวสาร แม้สีสันอาจจะดูไม่งาม แต่เยื่อดำ ๆ ที่ห่อหุ้มเปลือกนอกของเมล็ดข้าวกลับอุดมไปด้วยสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกายและมีสรรพคุณทางยา การปลูกข้าวเหนียวดำนั้นจะปลูกพร้อมๆกันกับข้าวขาวทั้งในการทำข้าวไร่และข้าวนาดำ ตามความเชื่อที่ว่าข้าวเหนียวดำคือราชาแห่งข้าว ที่ช่วยคุ้มครองผืนนาไม่ให้ศัตรูข้าวมาก่อกวนได้ โดยส่วนใหญ่เมื่อได้ผลผลิตข้าวเหนียวดำแล้วจะนำไปใช้ในครัวเรือนมากกว่านำออกมาขายเพราะไม่ได้ราคา

ปัจจุบันกระแสการดูแลสุขภาพและอาหารสุขภาพได้รับความนิยม ทำให้ข้าวเหนียวดำได้รับความสนใจจากผู้บริโภค เริ่มจากการนำมาเป็นส่วนผสมของอาหารเสริมและเวชภัณฑ์ จนกลายมาเป็นข้าวเชิงพาณิชย์ ทำให้ราคาตลาดพุ่งสูงขึ้นกว่าข้าวขาวอย่างมาก โดยมีผู้ผลิตอาหารเสริมจากต่างชาติมากว้านซื้อเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นยาบรรจุแคปซูลต่อไป ทำให้มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวเหนียวดำกันอย่างจริงจัง เพื่อให้ทนกับสภาพความแห้งแล้ง ศัตรูพืชและอากาศ เพื่อจะได้ผลผลิตมากขึ้นนั่นเองครับ

เมล็ดข้าวเหนียวดำ มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มระดับไขมันดีในกระแสเลือด บำรุงการทำงานของต่อมใต้สมอง ช่วยให้เกิดการกระจายตัวของเกล็ดเลือด และลดการเกิดกรดในกระเพาะอาหาร กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง ช่วยให้ลำไส้ดูดซึมสารอาหารได้ดีขึ้น ช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบหัวใจ ประสารทและกล้ามเนื้อ บำรุงสายตา บำบัดโรคเรื้อรังที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย ช่วยให้นอนหลับสนิท แก้ปัญหาวัยทอง

การนำข้าวเหนียวดำมาใช้ประโยชน์ง่ายๆ ก็คือนำมารับประทานเป็นข้าวแทนข้าวขาวทุกวันก็ได้รับสารอาหารไปเต็มๆแล้วล่ะครับ ซึ่งคนไทยเราก็นำข้าวเหนียวดำมาปรุงเป็นเมนูคาวหวานหลากหลายมาก ทำให้เราได้รับประโยชน์กันเต็มที่ แต่สำหรับประเทศอื่นๆ ที่ผลิตข้าวเหนียวดำไม่ได้ ก็จะนำข้าวเหนียวดำไปสกัดให้ได้สารสกัดแล้วนำมาทำเป็นอาหารเสริม หรือสบู่และเครื่องสำอางต้านริ้วรอยฝ้ากระ ชะลอวัย ซึ่งมีบริษัทเอกชนหลายเจ้าเป็นตัวกลางในการรับซื้อข้าวเหนียวดำในตลาดเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ โดยส่งออกในรูปแบบข้าวเหนียวดำบรรจุถุงและแป้งข้าวเหนียวดำเพื่อการแปรรูป โดยมียอดขายนับร้อยตันในแต่ละเดือน

เพื่อนๆเกษตรกรที่สนใจปลูกข้าวดำเพิ่มจากข้าวขาว ควรจะต้องค้นหารายละเอียดของพันธุ์ข้าวเหนียวดำที่ให้ผลผลิตสูงและทนทานต่อโรคและแมลงหรือติดต่อที่ศูนย์วิจัยข้าวในพื้นที่ก่อนลงมือปลูกนะครับ และเมื่อเริ่มปลูกแล้วควรมีการจดบันทึกข้อมูลการผลิตไว้ เพื่อจะได้เรียนรู้และพัฒนาการปลูกข้าวเหนียวดำให้ได้ผลผลิตเต็มที่และสามารถส่งออกได้เป็นล่ำเป็นสันครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook