สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ข้าวเหนียวเขี้ยวงู หนึ่งเดียวที่เชียงราย

ข้าวเหนียวเขี้ยวงู หนึ่งในข้าวเหนียวของไทยที่มีลักษณะโดดเด่น และหากเป็นข้าวเหนียวเขี้ยวงูเชียงรายก็จะยิ่งเป็นหนึ่งเดียวที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เรียกได้ว่าเป็นข้าวเหนียวพันธุ์เขี้ยวงู 8974 เฉพาะจังหวัดเชียงรายที่ให้ผลผลิตที่มีเอกลักษณ์ ปลูกที่ไหนก็ไม่ได้คุณภาพแบบพันธุ์ 8974 ถือได้ว่าเป็นข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมืองที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการนำไปเป็นวัตถุดิบในการทำข้าวเหนียวมูนต่างๆ เช่น ข้าวเหนียวมะม่วง หรือข้าวหลาม เป็นต้น ร้านดังยอดนิยมส่วนใหญ่มักต้องสั่งซื้อข้าวเหนียวพันธุ์นี้มาเป็นวัตถุดิบคุณภาพครับ

ข้าวเหนียวเขี้ยวงู เป็นข้าวที่ มีความไวต่อช่วงแสง ลำต้นสูง ตั้งตรง แข็งแรง ใบสีเขียว มีใบธงเรียวยาว รวงข้าวไม่กระจุกตัว เพราะคอรวงข้าวมีความยาวมาก เมล็ดข้าวเปราะ หลุดร่วงง่าย  มีลักษณะเด่นคือ ต้านทานโรคและแมลงศัตรูพืชได้ดี เมล็ดข้าวอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ปลูกได้ดีในระบบข้าวอินทรีย์ เมื่อนำไปสีข้าว จะมีปริมาณข้าวเต็มเม็ดและต้นข้าวมากกว่าร้อยละ 50 และเมื่อนำไปนึ่งจนสุก เม็ดข้าวจะเหนียวพอดี เนื้อข้าวนุ่ม ผิวข้าวเงามัน ให้กลิ่นข้าวที่หอมอ่อน น่ารับประทาน เมล็ดข้าวเรียวสวย เหมาะกับการนำไปประกอบเป็นอาหารหวาน เพราะเป็นข้าวเหนียวที่มีความร่วนพอประมาณ และง่ายต่อการบรรจุหีบห่อ เมื่อนำไปแช่เย็นแล้วสามารถนำมารับประทานได้เพราะเมล็ดคืนรูปได้ดีและนุ่ม

ข้าวเหนียวเขี้ยวงูเชียงรายนั้นมีข้อกำหนดว่าจะต้องปลูกในพื้นที่ 4 อำเภอในจังหวัดเชียงรายเท่านั้น ได้แก่ อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน อำเภอแม่จันและอำเภอพาน โดยจะต้องมีกระบวนการผลิตที่มีการควบคุมตรวจสอบอย่างเคร่งครัด สมาชิกที่สามารถปลูกได้จะต้องมีทะเบียนรับรองอย่างถูกต้อง และต้องกระบวนการและเอกสารตรวจสอบย้อนกลับได้ ตามคู่มือสำหรับสมาชิกผู้ขึ้นทะเบียนใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ข้าวเหนียวเขี้ยวงูเชียงราย

กระบวนการผลิตข้าวเหนียวเขี้ยวงูเชียงรายนั้นจะต้องปลูกในดินร่วนปนทรายหรือดินเหนียว ที่มีระดับความสูงเหนือกว่าระดับน้ำทะเล 300-600เมตร ดินมีค่า pH 6.5-7.5 เมล็ดพันธุ์ที่นำมาปลูกต้องนำมาจากแหล่งที่ได้รับการรับรองมาตรฐานภายใต้การควบคุมของศูนย์วิจัยข้าวเชียงรายและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยตรงปลูกในช่วงนาปี เตรียมดิน เตรียมต้นกล้า ปักดำ และกำจัดวัชพืช ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในคู่มือ และเก็บเกี่ยวราว 5 เดือนหลังจากหว่านเมล็ดพันธุ์ รวมไปถึงการแปรรูปข้าวเหนียวเขี้ยวงู ต้องทำโดยโรงสีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ผลิตในท้องที่ และดำเนินการรับซื้อข้าวเปลือก การจัดเก็บ การคัดคุณภาพ การสีข้าว ขนส่ง ลำเลียงและขายข้าวเหนียวเขี้ยวงูตามคู่มือการปฏิบัติงานเท่านั้น

ด้วยการควบคุมการผลิตทุกขั้นตอนนี้ จึงทำให้คุณภาพของข้าวเหนียวเขี้ยวงูเป็นไปตามมาตรฐานจากรุ่นสู่รุ่น และได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น มีตลาดกว้างขึ้น และเพื่อนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวพันธุ์นี้ก็มีความยั่งยืนมากขึ้นตามไปด้วยครับ ขอเพียงเราใส่ใจทุกกระบวนการผลิต ผลที่ได้รับกลับมาย่อมคุ้มค่าครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook