สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

จักจั่น เพลี้ย เพลียใจ

จักจั่น คือ ชื่อของเพลี้ยชนิดหนึ่ง ที่เป็นศัตรูพืชผลต่างๆ โดยมีเพลี้ยจักจั่นที่แตกต่างกันไป นับตั้งแต่ เพลี้ยจักจั่นสีขาว ที่มักพบการระบาดในนาข้าวและแปลงข้าวสาลีในประเทศที่มีภูมิอากาศร้อน แม้ว่าจะไม่สร้างความเสียหายถึงขั้นวิกฤติแต่ก็ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ผลผลิตได้ ส่วนของมะม่วงนั้นจะมีเพลี้ยจักจั่นแตกต่างกันไปตามพื้นที่ของแต่ละจังหวัด ได้แก่ เพลี้ยจักจั่นฝอย ที่มีขนาดเล็กมาก ความยาว 0.3 เซนติเมตร พบการแพร่กระจายในอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา และอำเภอสวี จังหวัดชุมพร ส่วนเพลี้ยจักจั่นมะม่วงที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีลำตัวยาว 0.55 เซนติเมตร เป็นเพลี้ยที่มีสีสันโดดเด่นที่สุดพบได้ในพื้นที่อำเภอสวี จังหวัดชุมพร เช่นกัน

เพลี้ยจักจั่น ยังเป็นแมลงนำโรคใบขาวไปสู่ต้นอ้อย ด้วยการดูดกินต้นอ้อยที่เป็นโรคใบขาวอยู่แล้ว และตัวเพลี้ยดูดเอาเชื้อไฟโตพลาสมาจากต้นอ้อยที่ติดเชื้อมาแพร่กระจายยังอ้อยต้นถัดไปที่เพลี้ยจักจั่นเข้าไปดูดกินต่อได้ จนทำให้ต้นอ้อยแสดงอาการของโรคภายในระยะเวลาไม่เกิน 40 วัน หลังจากได้รับเชื้อโรคดังกล่าว ส่วนการเข้าทำลายต้นข้าวในนาข้าวนั้น เพลี้ยจักจั่นจะเข้าทำลายได้ 2 วิธี คือ การดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณใบ จนอาจทำให้ต้นข้าวตายได้ แต่ปัจจุบันนี้พันธุ์ข้าวที่ถูกพัฒนาขึ้นมักมีความต้านทานโรคสูง จึงอาจจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงนัก ขณะที่การเข้าทำลายทางอ้อมด้วยการเป็นพาหะนำโรค จนทำให้ผลผลิตที่ควรได้รับลดลงอย่างมาก ด้วยการนำเชื้อใบส้มมาแพร่ระบาดในนาข้าวในช่วงฤดูฝน ทำให้การปลูกข้าวนาปีได้รับผลกระทบบ้าง

ไม่ใช่แค่เพียงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพืชผลเท่านั้น เพลี้ยชนิดนี้ ยังสามารถกัดผิวพวกเราจนเกิดเป็นตุ่มแดงหรือสำหรับคนที่ผิวบางอาจจะเกิดอาการแพ้จนเกิดตุ่มแผลที่มีน้ำใสๆ อยู่ภายในหรืออาจจะอักเสบเป็นหนองได้ด้วย ดังนั้นเมื่อรู้สึกว่าคันผิวให้เพื่อนๆ เกษตรกรรีบล้างผิวบริเวณที่ระคายเคืองด้วยน้ำสะอาดทันที แล้วรีบหายาหม่องมาทาป้องกันการเห่อขึ้นมาของตุ่ม แล้วรีบทำการสำรวจหาเพลี้ยจักจั่นในต้นพืชต่อไปครับ

การควบคุมการแพร่ระบาดของเพลี้ยจักจั่นนั้น เราต้องให้ความสำคัญตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์ที่จะปลูกให้มีความต้านทานสูงเป็นอันดับแรก และในบริเวณแปลงปลูกควรมีการดักจับเพลี้ยด้วยกับดักแสงไฟแล้วทำลายเสียแต่เนิ่นๆ อีกทั้งการตรวจดูแปลงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้สังเกตเห็นการกระจายตัวของเพลี้ยและรีบทำการกำจัดอย่างทันท่วงทีจะสามารถช่วงระงับความเสียหายได้ตั้งแต่ต้น ส่วนสำหรับในนาข้าว ให้เว้นช่วงเวลาของการปลูก ปล่อยให้ที่นานั้นว่างเปล่าระหว่างฤดูการเพาะปลูก เพื่อตัดวงจรชีวิตของเพลี้ยในเบื้องต้นครับ การป้องกันไว้ก่อนย่อมดีที่สุดครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook