สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ชวนชม โขดยิ่งงามราคายิ่งสูง

ชวนชม หรือ ลั่นทมยะวา มีถิ่นกำเนิดจากประเทศแถบทะเลทราย อย่างแทนซาเนีย เคนยา และยูกันดา จนได้รับสมญาว่า ดอกกุหลาบแห่งทะเลทราย เพราะเป็นพืชอวบน้ำที่ทนทานต่อความแห้งแล้ง ในประเทศไทยเราเริ่มรู้จักดอกชวนชมได้ร่วม 100 ปีแล้ว เป็ดอกไม้ที่ให้ดอกสวยงามตลอดปี ไม่ต้องใส่ใจมาก จึงเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย

ลำต้นชวนชมมีรูปทรงคล้ายขวด มีผิวเรียบสีเขียวหม่น แตกกิ่งแขนงรอบลำต้น บริเวณโขดหรือโคนลำต้นบวมแข็ง มีเนื้อเยื่อทำหน้าที่ลำเลียงน้ำไปเลี้ยงส่วนต่างๆ และเก็บสะสมน้ำเพื่อให้เกิดความชุ่มชื้น ยางขอองทุกส่วนของต้นชวนชมเป็นพิษ ใบมีลักษณะเรียวแหลม แต่ปลายมน มีความหนามันวาวและเหนียว ผลิดอกสีแดงเป็นส่วนใหญ่ แต่บางครั้งก็พบดอกสีขาวได้แต่ไม่บ่อยนัก ให้ผลเป็นฝักรูปเขามีเมล็ดสีน้ำตาลอ่อนอยู่ข้างใน

ชวนชมเป็นไม้ประดับที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะความงดงามของดอก ความทนทานต่อสภาพแวดล้อมและยังมีการปรับปรุงพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีพันธุ์ใหม่และสีดอกใหม่ๆ ให้ได้สะสมกันอยู่เสมอ และยังสามารถปลูกเป็นไม้จัดสวนและไม้กระถางได้ทั้งสองแบบ โดยชวนชมที่นิยมเลี้ยงในกระถางนั้นจะเน้นต้นเตี้ย ดอกดก ทรงพุ่มแน่น จึงต้องมีการใช้สารชะลอการเติบโตช่วยควบคุมขนาดความสูงและพุ่ม พันธุ์ที่นิยมปลูกในประเทศไทย คือ พันธุ์พื้นเมือง และพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น พันธุ์ยักษ์ญี่ปุ่น พันธุ์ฮอลแลนด์ มีลำต้นอ้วนคล้ายกระปุก มีใบหลากหลายรูปทรง และให้ดอกหลายสีสัน เมื่อนำไปปปลูกจะค่อยๆ กลายพันธุ์เป็นพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น

ปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงชวนชมนั้นให้มีดอกสวยงามทั้งปี คือ ต้องปลูกในดินที่มีความโปร่งและร่วนมาก ระบายน้ำได้ดี โดยนำดิน  1 ส่วนผสมกับขุยมะพร้าว 1 ส่วน และปุ๋ยหมัก 2 ส่วน มาใช้เป็นดินสำหรับปลูกชวนชม ส่วนการรดน้ำเราจะรดเพียงวันละครั้งในตอนเช้าตรู่ และต้องเลี่ยงการรดน้ำลงบนดอกชวนชม อย่ารดน้ำมากเกินเพราะจะทำให้เป็นโรครากเน่า ทำเลที่ปลูกควรให้ต้นชวนชมได้รับแสงแดดเต็มที่วันละประมาณ 6 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ จึงจะได้ดอกไม้สวยๆ ตลอด

สำหรับการเลี้ยงโขดหรือโคนต้นให้อวบสวยนั้นเป็นวิธีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ชวนชม เพราะยิ่งโขดมีขนาดใหญ่และได้สัดส่วน ราคาการซื้อขายในตลาดก็แพงตามไปด้วย เราจึงต้องให้ความสำคัญตั้งแต่เริ่มปลูกเพื่อให้รากเก็บกักธาตุอาหารไว้ให้เยอะที่สุด เพราะโขดนั้นคือส่วนหนึ่งของรากชวนชมนั่นเองครับ และเราต้องหมั่นเปลี่ยนขนาดกระถางตามขนาดของโขด เพื่อให้โขดค่อยๆ ขยายขนาด ใช้เวลานับปีจนโขดเจริญเต็มที่ คือเหนือดินขึ้นมาราว 3 ใน 4 ของโขด จึงเปลี่ยนไปใส่ในกระถางสำหรับโชว์โขดโดยเฉพาะครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook