สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ชะเอม ชื่อเขมรแต่พันธุ์ไทย

ชะเอมเป็นไม้เถา แต่เดิมเขียนว่า ชเอม มากจากคำว่า “เฌอเอม” ในภาษาเขมรที่มีความหมายว่า ต้นไม้ที่มีรสหวาน ส่วนในไทยเรานั้นเรียกชะเอมตามภาษาถิ่นที่แตกต่างกันไป บ้างก็เรียกว่าชะเอมป่า ในภาคเหนือเรียกว่าส้มป่อยหวาน จังหวัดสงขลาและนราธิวาสเรียก อ้อยช้าง เป็นต้น ลักษณะของลำต้นมีหนามปกคลุม ผิวเปลือกนอกขรุขระสีน้ำตาลเข้ม ส่วนเนื้อไม้ใต้เปลือกนอกมีสีขาวครีม ใบชะเอมคล้ายใบกระถิน แตกช่อดอกสีขาวปนเหลืองที่ปลายก้าน มีฝักแบนที่ภายในมีเมล็ดภายในประมาณ 3-7 เมล็ดนูนออกมาอย่างชัดเจน  ให้ผลชะเอมสีเขียวก่อนที่จะกลายเป็นสีน้ำตาลเข้มเมื่อแก่เต็มที่

ชะเอม หรือที่เรานิยมเรียกว่า ชะเอมไทย เพื่อไม่ให้สับสนกับชะเอมเทศนั้น ถูกนำมาใช้ในการแพทย์แผนไทย โดยมักนำมาใช้ร่วมกันกับชะเอมเทศ ส่วนหมอพื้นบ้านทางปักษ์ใต้จะใช้ชะเอมเป็นยาเดี่ยว เช่น ส่วนของเถา นำมารักษาโรคในหลอดลม แก้อาการในช่องคอ และการอักเสบในช่องปาก ส่วนรากใช้ขับพิษร้อน แก้ร้อนใน แก้ท้องผูก ใบชะเอมไทย ใช้ขับเลือด ดอกใช้บำรุงโลหิต และผล ช่วยทำให้ชุ่มคอ ในตำรับยาแผนไทยที่ชื่อ “พิกัดทศกุลาผล” ได้นำมาเข้าตำรับกับสมุนไพรชนิดอื่น เพื่อใช้บำรุงร่างกาย เป็นยาอายุวัฒนะ แก้อาการเหงือกอักเสบ ขับลมในช่องท้อง ลดไข้ บรรเทาอาการอักเสบในช่องคอ อีกด้วย

นอกจากนี้ ในต่างประเทศก็ยังได้ใช้ชะเอม ในการแพทย์แผนโบราณ ยกตัวอย่างเช่น ชนเผ่าในตอนเหนือของอินเดีย ได้ใช้เป็นยารักษาอาการอักเสบของปอดและหลอดลม รวมไปถึงอาการในระบบทางเดินหายใจ และในแคว้นทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ก็ได้นำชะเอมมาใช้ในการรักษาความเจ็บป่วยจากอาการกล้ามเนื้ออักเสบ เส้นยึด และบรรเทาไข้ รวมไปถึงการรักษาการขยายตัวของเส้นเลือดในลำไส้ใหญ่ที่ก่อให้เกิดโรคริดสีดวงอีกด้วย

ในส่วนของการแพทย์แผนปัจจุบันและเภสัชวิทยา ได้พบว่าชะเอม มีฤทธิ์ในการระงับแบคทีเรียได้ดี โดยสามารถสกัดเอธานอลจากเนื้อไม้ชะเอมมาใช้ประโยชน์เพื่อผลิตน้ำยาบ้วนปากหรือกลั้วคอได้ ขณะที่สารสกัดเมธานอลจากลำต้นมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราไก้ถึง 6 ชนิด และยังมีฤทธิ์ต้านเบาหวานและต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย

แม้ว่าเราจะพบเห็นชะเอมได้โดยทั่วไป ในป่าโปร่งหรือป่าละเมาะเชิงเขา เพราะเป็นไม้ที่ปรับตัวได้ดี แค่ขยายพันธุ์ในดินร่วนที่มีความชื้นดี ก็เติบโตได้อย่างรวดเร็ว สามารถเติบโตแซมไปกับพืชอื่นๆ ได้ แต่มักพบได้มากในแถบตะวันออกของประเทศ หากเพื่อนๆ เกษตรกรคิดจะปลูกไว้เป็นพืชสมุนไพรในบ้าน อาจจะใช้เมล็ดหรือกิ่งตอนมาปลูกในดินร่วนปนทราย ดูแลเรื่องความชุ่มชื้นในดินให้เหมาะสม ก็จะมีสมุนไพรดีๆ ไว้ใช้ในบ้านแล้วล่ะครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook