สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ดินดาน จัดการอย่างไรให้ปลูกพืชได้

คำว่า ดินดาน หมายถึง ดินที่มีชั้นดินจับตัวกันจนอัดแน่นจนทำให้ชั้นดินแข็งไม่โปร่ง ซึ่งอาจจะเกิดจากปัจจัยหลายประการ ตั้งแต่สมบัติดินตามธรรมชาติที่มีดินเหนียวสะสมทับถมกันไว้เป็นเวลานาน หรืออาจจะเกิดการบดอัดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การนำรถขนาดใหญ่เหยียบย่ำดินจนอัดกันแน่น การทำเขตกรรมขณะที่ดินยังไม่แห้งทำให้ดินประสานตัวกันแน่น การไม่ปรับปรุงดินอย่างเหมาะสม การไถพรวนดินซ้ำๆ ที่ความลึกเดิมๆ ต่อเนื่องหลายครั้ง ทำให้โครงสร้างของดินเสียหาย เมื่อมีน้ำไหลผ่านดินจะเกิดการชะล้างอนุภาคดินมาทับถมใต้ชั้นดินที่มีการไถพรวนแล้ว เป็นต้น ทำให้เกิดชั้นดินดานที่ไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของพืช เพราะดินเกาะยึดกันแน่นจนรากไม่สามารถเจริญได้เต็มที่ อีกทั้งไม่สามารถดูดซึมน้ำหรือถ่ายเทอากาศได้อย่างเหมาะสม

ปัญหาที่พบในพืชเมื่อปลูกในบริเวณพื้นที่ที่เป็นดินดาน คือ รากของพืชไม่สามารถชอนไชลงดินได้ลึกเท่าที่ควร ยิ่งชั้นดานอยู่ในระดับตื้นมากเท่าไร ยิ่งส่งผลกระทบต่อพืชได้มาก เพราะรากจะเจริญได้จำกัดยิ่งขึ้น ทำให้ไม่สามารถรับธาตุอาหารได้อย่างเหมาะสม และยังดูดซึมน้ำได้ยาก ทำให้ต้นพืชไม่เจริญเติบโตตามวัย ไม่สมบูรณ์ ต้นเตี้ย ผลิดอกออกผลน้อย หรืออาจจะตายได้ง่าย ซึ่งพืชที่เราพอจะปลูกได้ในดินลักษณะนี้จะต้องเป็นพืชที่มีรากสั้นๆ จำพวกหญ้าที่ใช้เป็นอาหารสัตว์เคี้ยวเอื้อง ไม่เหมาะสำหรับการปลูกพืชไร่ เพราะจะทำให้ได้ผลผลิตน้อย แต่หากมีการตรวจสอบแล้วพบว่าชั้นดินดานอยู่ลึกเกินกว่า 1 เมตร ก็ยังสามารถปลูกพืชได้ตามปกติแต่ควรมีการจัดการดินที่ดีเสมอด้วย

ในพื้นที่ที่มีดินดานหากต้องการปรับปรุงดินและจัดการดินให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ ควรนำพืชต่างๆ ที่มีระบบรากที่ทนทานและสมบูรณ์ อย่าง หญ้าแฝกและหญ้าบาเฮีย ที่มีรากแข็งแรงมาก เพื่อชอนไชลงไปสู่ชั้นดานจนสามารถทำลายการเกาะแน่นของอนุภาคดินได้ ขณะเดียวกันต้องมีการวางแผนการนำเครื่องจักรกลหนักเข้าพื้นที่และการกำหนดเส้นทางสัญจรของรถในแปลงปลูกไม่ให้ใช้เส้นทางซ้ำๆ กัน เพื่อไม่ให้เกิดการบดทับถี่เกินไปจนดินเกิดปัญหาได้ และการไถพรวนในแต่ละครั้ง จะต้องพิจารณาไม่ให้ไถในช่วงที่ดินเปียกหรือชื้น โดยสามารถไถพรวนได้หลังจากที่รับน้ำหรือฝนตกไปแล้วไม่น้อยกว่า 4-5 วัน และควรมีการเพิ่มอินทรียวัตถุในดินอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดความหนาแน่นของดิน โดยการเติมปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก เป็นต้น

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook