สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ด่างทับทิม

ด่างทับทิม คือสารเคมีที่มีลักษณะเป็นผลึกคริสตัลเล็กๆ สีม่วง เมื่อนำมาละลายในน้ำแล้ว น้ำจะมีสีออกชมพูเข้มจนถึงม่วงเข้ม ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของปริมาณด่างทับทิมต่อปริมาณน้ำ ด้วยความที่สารเคมีชนิดนี้มีความเป็นด่างอ่อนๆ จึงถูกนำมาใช้ประโยชน์หลายอย่าง และสิ่งหนึ่งที่พวกเราคุ้นเคยก็คือ การนำมาล้างทำความสะอาดผักผลไม้สด รวมทั้งเนื้อสัตว์ เป็นการฆ่าเชื้อโรคและชำระสารเคมีปนเปื้อน และเกษตรกรผู้เลี้ยงปลายังนำมาใช้ในการล้างบ่อปลา เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อโรคต่างๆ อีกด้วย

เพื่อนๆ เกษตรกรบางท่าน ยังนำด่างทับทิมมาใช้รักษาโรคแคงเกอร์หรือโรคขี้กลาก ในพริก มะนาว กล้วยไม้ และไม้ดอกไม้ผลต่างๆ  ทดแทนการใช้สารเคมีที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพวกเราผู้ประกอบอาชีพเกษตรกร  โดยใช้ด่างทับทิมต่อน้ำ ด้วยอัตราส่วน 50กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร แล้วเก็บไว้ในขวดทึบที่ไม่โดนแสง เมื่อจะนำไปใช้พ่นลงต้นไม้ จึงค่อยนำน้ำหัวเชื้อด่างทับทิมที่เตรียมไว้ ปริมาณ 1 ซีซี ผสมกับน้ำ 1 ลิตร ฉีดพ่นต้นไม้ทุกสัปดาห์ ก็จะแก้ปัญหาโรคขี้กลากได้ เมื่อพืชผลหายจากการเป็นโรคแล้ว เราค่อยนำจุลินทรีย์หน่อกล้วยมาฉีดซ้ำเพื่อเป็นการบำรุงพืชผลต่อไป เรียกได้ว่าใครทำเกษตรอินทรีย์ต้องมีด่างทับทิมอยู่ในครอบครองกันเลยล่ะครับ

มาดูประโยชน์ของด่างทับทิมสำหรับเพื่อนเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากันบ้างครับ อย่างที่เรารู้กันดีว่าช่วงที่หนาวจัดๆ ปลาจะเป็นโรคได้ง่าย และอาจช็อคกับสภาวะความหนาวจนตายได้ ทำให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงประสบปัญหาขาดทุนกัน จนหาทางออกด้วยการนำด่างทับทิมมาผสมในน้ำเพื่อป้องกันโรคและเป็นการปรับปรุงคุณภาพน้ำไปในตัว โดยใช้ด่างทับทิม 1 ช้อนชาใส่ลงไปในถุงผ้าพร้อมก้อนหิน 1 ก้อน ต่อ 1 ถุง แล้วนำไปมัดไว้กับมุมกระชังทุกมุม ดังนั้น 1 กระชังก็ต้องมีถุงผ้า 4 ถุง และให้ทำการเปลี่ยนถุงทุกสัปดาห์ เพื่อให้ปลามีอัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น เป็นการช่วยกำจัดโรคแบบอินทรีย์  ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่เกษตรกร

นอกจากนำไปใช้ในการเลี้ยงปลาแล้ว ยังนำไปใช้ในการเลี้ยงกุ้ง เพราะการเลี้ยงกุ้งส่วนใหญ่จะเน้นการเลี้ยงกุ้งความหนาแน่นสูง ทำให้เกิดเชื้อก่อโรคปนเปื้อนง่าย มีตะกอนแขวนลอยเยอะ ดังนั้นเกษตรกรจึงได้นำเอาด่างทับทิมมาผสมน้ำเพื่อฆ่าเชื้อโรค โดยใช้สัดส่วนด่างทับทิม 2 กก.ต่อบ่อกุ้งขนาด 1 ไร่ ซึ่งทำให้เกิดผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

แต่อย่างไรก็ตาม การใช้ด่างทับทิมในจำนวนที่เยอะเกินไปหรือเกิดการสูดดมโดยตรง อาจส่งผลให้ผู้สูดดมหรือผู้สัมผัสเกิดปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจและมีผลต่อผิวหนังที่สัมผัสกับด่างทับทิมได้ เวลาเพื่อนๆ จะใช้ก็ใช้ในปริมาณที่พอเหมาะและดูแลการสัมผัสหยิบจับกันด้วยนะครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook