สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ตับเต่านา หรือผักตับเต่า

ตับเต่านา หรือผักตับเต่า มีชื่อภาษาอังกฤษเรียกว่า  Frogbit เป็นพรรณไม้น้ำที่ลอยตัวอยู่บนผิวน้ำสามารถลอยตัวอย่างเป็นอิสระไปกับกระแสน้ำได้ แต่หากอยู่ในน้ำตื้นจะหยั่งรากลงไปใต้น้ำเพื่อยึดพื้นดิน มักพบในแหล่งน้ำที่นิ่ง ไหลเอื่อยช้า ไม่มีคลื่น เช่น สระน้ำ ลำธาร นาข้าว และคูน้ำ ที่อุดมไปด้วยแคลเซียมมีถิ่นกำเนิดในแถบยุโรป เอเชีย และแอฟริกา ต้นตับเต่านาจะมีลักษณะคล้ายบัวขนาดจิ๋ว ใบรูปกลม เว้าตรงโคนใบทรงคล้ายหัวใจมีขนาดเพียง 3-8 เซนติเมตรเท่านั้น ใต้ใบที่หนาแน่นจะมีรากเกาะกลุ่มกันหนาเป็นกระจุก ผิวใบเรียบมันวาวสีเขียวเข้ม ท้องใบสีเขียวอ่อน ตรงกลางใบจะมีฟองอากาศคอยอุ้มลำต้นไว้ มีดอกเดี่ยวสีขาว มีกลีบ 3 กลีบและมีสีเหลืองตรงกลาง ให้ผลเป็นรูปทรงกระบอก ทั้งใบและดอกอยู่บริเวณผิวน้ำ

ตับเต่านาหรือผักตับเต่านั้นสามารถนำมาประกอบอาหาร โดยนำยอดอ่อนมาลวกจิ้มน้ำพริกหรือ นำมายำได้ ในทางสมุนไพรนั้นพบว่ามีการนำผักชนิดนี้ทั้งต้นมาใช้บรรเทาอาการไข้และลดเสมหะ รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการย่อยอาหารดีขึ้น นอกจากนั้นยังสามารถปลูกเพื่อคลุมผิวน้ำให้ร่มเงาแก่สัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงปลาหรือกุ้งได้

สำหรับการปลูกนั้นในต้นตับเต่านาในตู้ปลาสวยงามสวยงามนั้น ให้นำต้นพืชลงน้ำให้รากชี้ลงก้นอ่างหรือตู้ รักษาอุณหภูมิของน้ำระหว่าง 17 ถึง 30 องศาเซลเซียส รักษาระดับ pH ของน้ำระหว่าง 6.0 ถึง 8.0 โดยสามารถใช้สารเติมแต่งน้ำเพื่อเพิ่มหรือลดระดับ pH หากจำเป็น ปรับกระแสน้ำให้ไหลช้าๆ วางไว้ในบริเวณที่จะได้รับแสงประมาณสามชั่วโมงต่อวัน หากมีปลาอยู่ในตู้ปลาและไม่ต้องการให้ปลาสัมผัสกับอุณหภูมิที่ผันผวนจากแสงแดด ก็สามารถติดตั้งไฟตู้ปลาได้

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ แม้ว่าผักนี้จะเป็นผักที่มีประโยชน์ แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่พบว่ามีผักชนิดนี้แพร่กระจายในหลายรัฐ เช่น ใน นิวยอร์ค มิชิแกน โอไฮโอ เพนซิลเวเนีย เวอร์มอนต์ และวอชิงตัน โดยในรัฐมิชิแกนนั้นได้ขึ้นทะเบียนผักตัวเต่านา ให้กลับกลายเป็นวัชพืชที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะพบว่ามีการแพร่กระจายอย่างหนาแน่นเหนือผิวน้ำหลายแห่ง  โดยการแพร่กระจายพันธุ์นั้น จะเกิดจากการที่มีเรือบรรทุกสัญจรผ่านแหล่งน้ำที่มีผักตัวเต่าแล้วลากพืชเหล่านี้ติดไปด้วย จึงทำให้แหล่งน้ำอื่นๆ ที่เรือสัญจรผ่านได้รับการกระจายตัวของพืชชนิดนี้ ทำให้เกิดการกีดขวางการคมนาคมทางน้ำ กีดขวางไม่ให้แสงผ่านลงไปใต้น้ำ และลดออกซิเจนในน้ำ จนกลายเป็นพืชรุกรานทางน้ำ เพราะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำต่างๆ จนอาจเกิดการเน่าเสียของน้ำได้

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook