สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ตาข่ายกันแมลง ป้องกันแมลงศัตรูพืช

ตาข่ายกันแมลง คือวัสดุที่เรานำมาป้องกันแมลงศัตรูพืชไม่ให้เข้ามารบกวนผลิตผลในแปลงปลูกโดยหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี เพราะปัจจุบันผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจกับพืชผักปลอดสารพิษ มีความใส่ใจและเลือกซื้อพืชผักที่มีขั้นตอนการผลิตที่งดสารเคมี เกษตรกรจำนวนหนึ่งจึงหันมาใช้มุ้งหรือวัสดุตาข่ายกันแมลงกันมากขึ้น หลายแห่งได้หันมาปลูกผักในโรงเรือนกางมุ้ง ซึ่งสามารถยกระดับผลผลิต ทำให้ขายได้ราคาสูงขึ้นและมีตลาดรองรับที่ขยายตัวมากขึ้น

ตาข่ายกันแมลงนั้น ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์แค่เพียงนำมาคลุมแปลงพืชผลหรือนำมาทำโรงเรือนเท่านั้น แต่ยังถูกนำมาใช้ล้อมเป็นรั้วแบ่งอาณาเขต ล้อมแปลงผัก ล้อมสวน และยังถูกนำมาใช้กันแมลงในคอกปศุสัตว์ต่างๆ เช่น คอกวัว กรงไก่ และบ่อสัตว์น้ำอีกด้วย

ตาข่ายกันแมลงที่เหมาะสมในการนำมาใช้ในแปลงปลูกนั้น ควรเป็นตาข่ายที่รับแรงลมได้และลดแรงปะทะได้พอประมาณ ควรคำนวณทิศทางลมให้แม่นยำ เพื่อป้องกันการปะทะกับแรงลม ตาข่ายต้องมีความคงทนปานกลาง ติดตั้ง แก้ไข ซ่อมแซม เคลื่อนย้ายได้ง่าย สิ่งที่ต้องระวังก่อนติดตั้งตาข่ายก็คือการกำจัดและป้องกันโรคและแมลงในดินในขั้นตอนการเตรียมดินให้ดี โดยควรมีการไถพลิกดินและตากดินไว้อย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ เพื่อให้แมลงและโรคในดินถูกทำลายลง

การใช้ตาข่ายจะช่วยป้องกันไม่ให้แมลงบางชนิดเข้าไปก่อกวนผลผลิต ทำให้ลดค่าใช้จ่ายเรื่องของสารเคมีในการควบคุมแมลง ทำให้เกษตรกรไม่ต้องสัมผัสกับสารพิษและผู้บริโภคได้รับประทานพืชผักปลอดสารพิษ นอกจากนี้ตาข่ายยังช่วยรักษาความชื้นในแปลงได้ดี ทำให้ลดการใช้น้ำลงได้ ขณะที่ในช่วงฤดูฝน ตาข่ายยังทำหน้าที่ลดแรงปะทะของหยดฝนกับต้นพืช ไม่ทำให้พืชบอบช้ำหรือเสียหาย แต่สิ่งที่เราต้องพิจารณาคือ ต้นทุนในการใช้มุ้งตาข่ายในช่วงเริ่มต้นที่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อวัสดุที่สูง ดังนั้นต้องพิจารณารอบด้าน ว่าพืชที่เราปลูกนั้นสามารถสร้างรายได้ได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายหรือไม่ และในเรื่องของความชื้นของแปลงปลูกที่สูงกว่าการปลูกพืชโดยไม่มีตาข่ายกันแมลงนั้น อาจจะเป็นสาเหตุของโรคพืชได้ หากพืชที่นำมาปลูกมีความต้านทานโรคต่ำและมีโรคพืชสูง อาจจะมีความเสี่ยงต่อความเสียหายของผลิตผลตามมา

โดยทั่วไปในท้องตลาดจะมีวางจำหน่ายมุ้งตาข่ายเหล่านี้ตามความถี่ของตา 4 ขนาด คือ ขนาด 16 ตา 20 ตา 32 ตา และ 40 ตา โดยขนาดความถี่นั้นจะขึ้นอยู่กับพืชที่เราปลูกว่าต้องกันแมลงขนาดไหน และมีวัสดุที่แตกต่างกันไป ทั้งแบบกันรังสียูวี และแบบไนล่อนธรรมดาทั่วไป มีความกว้างตั้งแต่ 2.5 เมตร ไปจนถึง 50 เมตร ตามความเหมาะสมของพื้นที่ที่เราจะเลือกใช้

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook