สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ตาล หรือ ต้นตาลโตนด มูลค่าสูงกว่าลำต้น

ตาล หรือ ต้นตาลโตนด เป็นต้นไม้ที่ให้น้ำตาลโตนด รสชาติหอมหวานละมุนละไม อันเป็นเอกลักษณ์ที่ย้ำเตือนให้เราต้องคิดถึงจังหวัดเพชรบุรี เพราะน้ำตาลโตนดเมืองเพชร และ บรรดาขนมหวานจากเมืองเพชร ชนิดต่างๆ ที่ทำจากน้ำตาลโตนด มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่ยอมรับของทุกคน และยังพลอยทำให้ใครหลายคนเข้าใจว่าจังหวัดเพชรบุรี มีต้นตาลมากเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งที่ความจริงแล้วกลับเป็นจังหวัดสงขลา ที่มีต้นตาลมากกว่าและเรียกได้ว่ามากที่สุดในประเทศไทย

นอกจากชื่อเสียงอันโด่งดังของ ตาล และน้ำตาลเมืองเพชรแล้ว ชาวเพชรบุรีก็ยังได้รับการยอมรับอีกด้วยว่ามีภูมิปัญญาและองค์ความรู้ที่พรั่งพร้อม ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลผลิตจากตาลแทบทั้งหมด ก็ต้องยกย่องให้กับชาวเพชรบุรี ที่สืบทอดอาชีพทำตาลกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ทั้งๆที่ในประเทศไทยก็มีต้นตาลขึ้นกระจายอยู่มากมาย ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน ก็ตาม เพราะตาลขึ้นได้ในดินทุกชนิดที่มีความชุ่มชื้น ไม่มีน้ำท่วมขัง ต้องการน้ำน้อย ทนร้อน ทนแล้งได้ แต่ที่เราเห็นกันว่าตาลมีมากทางภาคใต้ รวมไปถึงจังหวัดที่อยู่ติดชายทะเลนั้น โดยมากเป็นตาลที่ขึ้นตามธรรมชาติมาตั้งแต่สมัยโบราณ คาดว่าน่าจะแพร่พันธุ์มาทางทะเลตามกลไกธรรมชาติ ส่วนตาลในภาคอื่นนั้น คาดว่าเริ่มจากมีคนตั้งใจปลูกเอาไว้ตามคันนา กลางสวนเพื่อบ่งบอกอาณาเขต หรือบอกตำแหน่งของสวน

ตาล เป็นพืชลำต้นเดี่ยวตระกูลเดียวกับมะพร้าว สูง 25-30 เมตร ลำต้นผิวดำเป็นเสี้ยนแข็ง ใบตาลมีก้านใบแผ่กว้างเป็นกาบหุ้มรอบลำต้นอยู่บริเวณยอดตาล ก้านใบยาวแบบนิ้วมือ ใบตาลคล้ายรูปพัด ออกประมาณ 25-40 ใบ แผ่เป็นรัศมีกว้าง 3-4 เมตรอยู่บนยอดตาล เป็นพืชแยกเพศ ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียแยกกันอยู่เป็นคนละต้น เรียกว่าตาลตัวผู้ ตาลตัวเมีย ซึ่งตาลตัวเมียเท่านั้นที่จะให้ผลและเมล็ดได้ ส่วนตาลตัวผู้จะให้แต่น้ำตาลอย่างเดียว

ตาลขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดเท่านั้น ผู้ปลูกไม่สามารถเลือกกำหนดเพศในการปลูกได้ ส่วนใหญ่ก็มักจะขึ้นปะปนกันไป เมื่อปลูกได้ 5-6 ปี จะสูงเพียง 1 เมตร หลังจากนั้นจะยืดตัวสูงขึ้นปีละ 30-40 เซนติเมตร ในระหว่างนี้ ยังจำแนกเพศไม่ได้ ต้องรอจนกว่าต้นตาลจะมีอายุเกิน 10 ปี เริ่มออกดอก มีผลผลิตให้เก็บเกี่ยว ซึ่งตอนนั้นถึงจะจำแนกเพศได้ชัดเจน และ เก็บเกี่ยวผลผลิตต่อเนื่องได้มากกว่า 40 ปี

สำหรับ ตาล ที่ขึ้นในภูมิภาคอื่นนั้น ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับตาลของจังหวัดเพชรบุรีเลย ไม่ว่าจะเป็นลักษณะ รูปร่างหน้าตา หรือแม้แต่ความหวานของน้ำตาล แต่สิ่งที่แตกต่างกัน และสำคัญที่สุดก็คือ ภูมิปัญญา องค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญของคนในอาชีพการทำตาล ที่ทำให้เพื่อนๆ เกษตรกรผุ้ปลูกตาลเมืองเพชรได้เปรียบกว่าพื้นที่อื่น ทำให้ได้ผลกำไรเป็รกอบกำนั่นเองครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook