สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นกระทิง

ต้นกระทิง ต้นไม้ขนาดกำลังดี ให้ดอกงดงามจนถูกกล่าวถึงในวรรณคดีโบราณโดยพระยาสมุทรโวหารน้อย อาจารยางกูร ในวรรณคดีเรื่อง “พรรณพฤกษา” จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ต้นไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียและตามหมู่เกาะต่าง ๆ ในอินโดจีน  ส่วนในไทยเรานั้นมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องที่ เช่น สารภีทะเล เนาวกาน และ กากระทิง เป็นต้น

ในไทยเรานั้นพบว่ามี 2 สายพันธุ์ใหญ่ๆ คือ กระทิงใบแดงและกระทิงใบเขียว เป็นไม้ไม่ผลัดใบ มีพุ่มหนาแน่น โครงสร้างพุ่มใหญ่ แตกกิ่งแขนงจำนวนมาก  บริเวณลำต้นมีเปลือกไม้สีน้ำตาลอมแดง เนื้อเปลือกไม้แตกเป็นร่อง ด้านในของเปลือกไม้สีชมพูเรื่อ เนื้อลำต้นใต้เปลือกไม้สีแดงก่ำออกน้ำตาล มียางใส ใบกระทิงมีสีเขียวเข้ม ใบหนา ด้านบนเงามันคล้ายใบขนุน มีความยางของใบจากโคนใบถึงปลายใบตั้งแต่ 8 เซนติเมตรจนถึง 15 เซนติเมตร แตกช่อดอกสีขาว 5-8 ดอกต่อช่อที่ซอกใบและปลายกิ่ง มองเห็นเกสรชูช่อชัดเจน ให้ผลกลม อุ้มน้ำ ผิวเปลือกผลแข็ง เรียบ สีเขียวเมื่ออ่อน แต่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเมื่อเริ่มสุก และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่จนแห้งเหี่ยว มีเมล็ดที่หุ้มด้วยเปลือกแข็งกลางผลด้านใน

ดอกกระทิง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ใช้ทำเป็นยาหอมบำรุงหัวใจ ใช้เป็นยากระตุ้นความแข็งแรงให้ร่างกาย ใบกระทิงมีฤทธิ์เย็น ใช้รักษาอาการเจ็บป่วยในดวงตา เช่น ตาแดง ตาฟาง และใช้ใบโขลกและผสมน้ำสะอาดเพื่อล้างตา  ยางจากลำต้นใช้ขับพิษ ทำให้อาเจียน ขับปัสสาวะ เป็นยาแก้ท้องผูก และยังนำมาทาบริเวณหน้าอกเพื่อบรรเทาอาการไอและปอดชื้น   เปลือกไม้จากลำต้นถูกนำมาใช้ในการรักษาแผลภายนอก ห้ามเลือด แก้ผิวหนังอักเสบ หรือจะนำไปต้มขับน้ำหนองจากโรคหนองในและใช้สำหรับสตรีที่ปวดประจำเดือน ขณะที่น้ำมันที่สกัดได้จากเมล็ดกระทิงนั้น สามารถนำมาใช้ทารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน คลายกล้ามเนื้อ ลดบวม รากของต้นกระทิงก็ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ลดอาการปวดเมื่อยต่างๆ และขับปัสสาวะได้เช่นกันครับ

นอกจากสรรพคุณทางสมุนไพรที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น  ต้นกระทิงยังถูกนำส่วนต่างๆ ไปใช้ประโยชน์อื่นๆ หลายประการ เช่น นำต้นและใบไปเบื่อปลา น้ำมันที่สกัดได้จากเมล็ดถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบและส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางและสบู่ และยังสามารถนำน้ำมันที่ได้นี้ไปเป็นส่วนผสมในการผลิตพลังงานทางเลือกอย่างน้ำมันไบโอดีเซลได้ เปลือกไม้จากลำต้นและยางภายในลำต้นสามารถนำมาช่วยแต่งกลิ่นได้ เนื้อไม้ถูกนำมาใช้เป็นไม้หมอนรางรถไฟและเครื่องมือทางการเกษตรต่างๆ นอกจากนี้ต้นกระทิงยังถูกนำไปปลูกเพื่ออาศัยร่มเงาในที่โล่งแจ้งเพราะเป็นต้นไม้ที่ให้พุ่มหนาแน่น ปลูกได้ในดินเค็ม ทนแดด ทนลม ไม่มีแมลงมากวน ทำให้ไม่ต้องดูแลมาก แต่ข้อควรระวังคือ รากของต้นกระทิงอาจสร้างปัญหาแก่ตัวบ้านและอาคาร ดังนั้นต้องปลูกในที่โล่งจริงๆ นะครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook