สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ ความงามสีชมพู

ชมพูพันธุ์ทิพย์ ไม้ต้นที่มีนามสละสลวย และยังมีดอกบานสะพรั่งที่สวยตระการตา เป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทางใต้ของอ่าวเม็กซิโกจรดภูมิภาคละตินอเมริกา มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า pink poui และ rosy trumpet tree  โดย หม่อมราชวงศ์ พันธุ์ทิพย์ บริพัตร เป็นผู้นำเข้ามาปลูกในประเทศไทย ประมาณปี  พ.ศ. 2490-2500 จึงได้ตั้งชื่อไม้ชนิดนี้ว่า ชมพูพันธุ์ทิพย์ เพื่อเป็นเกียรติคุณแก่ท่าน ปัจจุบันไม้ชนิดนี้คือหนึ่งในไม้ล้อมที่ได้รับความนิยมในการนำมาตกแต่งสนามตามสนามหญ้าหน้าบ้าน รีสอร์ท โรงแรม สนามกอล์ฟ สถานที่ราชการ และ โครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ เพราะเป็นไม้ที่รูปทรงของเรือนยอดสวย การแตกกิ่งก้านดูมีชีวิตชีวา ทำให้ทรงพุ่มเกิดเป็นชั้นๆ และยังให้ร่มเงาได้ดี แต่ไม่เหมาะที่จะนำไปปลูกในบริเวณที่เป็นลานกิจกรรมสำหรับเด็กหรือบริเวณลานจอดรถ เนื่องจากเนื้อไม้มีความเปราะ อาจจะเกิดการหักและหล่นลงมาทำให้เกิดอันตรายแก่เด็กและรถได้ และไม่ควรปลูกใกล้กับอาคารบ้านเรือน เพราะระบบรากของต้นไม้อาจจะแผ่ขยายไปจนทำลายโครงสร้างของอาคารได้

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ พบว่าเป็นไม้ผลัดใบ ยืนต้น เป็นพืชในวงศ์แคหางค่าง จัดเป็นไม้ขนาดกลางไปจนถึงใหญ่ เรือนยอดแผ่กิ่งก้านกว้าง ลำต้นมีเปลือกไม้สีน้ำตาลอ่อน เมื่อต้นยังไม่แก่เปลือกไม้จะเรียบ แต่จะเริ่มแตกระแหงตามแนวตั้งของลำต้นเมื่อต้นไม้เริ่มแก่ กิ่งไม้ไม่แข็งแรง หักได้ง่าย มีความเปราะบางสูง ใบเป็นใบประกอบ ผลัดใบ แต่ละใบประกอบไปด้วยใบย่อย 5 ใบ ทำให้แผ่ออกคล้ายนิ้วมือ ใบย่อยมีลักษณะรีรูปไข่ โคนใบสอบ ปลายใบแหลม ผิวใบสีเขียวแก่ ขอบใบเรียบ มีความกว้างโดยเฉลี่ยราว 5 เซนติเมตร และมีความยาวโดยเฉลี่ยราว 10 เซนติเมตร

ดอกของต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ที่จะมีสีชมพูเหมือนชื่อเสียงเรียงนามที่ตั้งไว้ เมื่อถึงฤดูที่ดอกบานหลังจากที่ต้นไม้เริ่มผลัดใบแล้ว ดอกจะบานพร้อมกันสะพรั่งทั้งต้น โดยออกดอกเป็นช่อสีชมพูอ่อนที่บริเวณปลายกิ่งเป็นกระจุกหนาแน่น ประกอบไปด้วยดอกย่อยหลายดอกมารวมกัน โคนกลีบดอกติดกันเป็นเนื้อเดียว ปลายหลอดแยกออกมาเป็น 5 แฉกคล้ายรูปแตรหรือลำโพง จึงน่าจะเป็นที่มาของชื่อภาษาอังกฤษที่ว่า rosy trumpet tree เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดประมาณ 8 เซนติเมตร ดอกเป็นดอกที่บอบบาง หลุดร่วงง่าย ให้ผลเป็นฝักแบน แห้ง มีความยาวถึง 20-30 เซนติเมตร ด้านในฝักมีเมล็ดแบนสีน้ำตาลแก่ซ่อนอยู่ เมล็ดจะมีปีก ทำให้เมื่อฝักแก่เต็มที่และแตกออกเป็นสองซีก จะทำให้เมล็ดหลุดร่วงและสามารถปลิวไปได้ไกลกว่าโคนต้น จึงเกิดการขยายพันธุ์ได้ไม่ยากนักในบริเวณใกล้เคียงกัน

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook