สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นชะมวง ผลไม้รสเปรี้ยวหวาน

ต้นชะมวง เป็นพืชวงศ์เดียวกับมังคุด โดยในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยเราจะเรียกชื่อแตกต่างกันไป เช่นในภาคใต้เรียกว่ากะมวงหรือส้มมวง แต่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชเรียก มวงส้ม และนราธิวาสเรียก กานิ ตามภาษามลายู ส่วนในภาคอีสานเรียกหมากส้มโมง แต่จังหวัดอุดรธานีเรียกว่า หมากโมก ส่วนในภาคเหนือเรียกว่า ส้มป้องหรือมะป้อง พบมากในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทย เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียอาคเนย์ ซึ่งพบได้ในป่าดิบชื้น โดยเฉพาะพื้นที่ราบลุ่มริมแหล่งน้ำที่มีความชื้นเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชชนิดนี้เป็นอย่างมาก

ส่วนต่างๆ ที่ได้จากต้นชะมวงนั้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ผลชะมวงสุกที่นอกจากนำมารับประทานผลสดเป็นผลไม้รสเปรี้ยวๆหวานๆ แล้ว ยังสามารถนำมาปรุงรสน้ำปลาร้าให้มีรสชาติกลมกล่อมขึ้น ด้วยการนำผลสุกมาสไลซ์เป็นแว่นแล้วนำไปตากแดดให้แห้งก่อนที่จะเติมลงไปหมักในปลาร้า ส่วนของใบอ่อนที่เพิ่งแตกใบนั้นถือว่าเป็นผักสดรสเปรี้ยวคล้ายยอดมะดันเหมาะที่จะนำไปรับประทานเคียงกับน้ำพริก ยำ และลาบ หรือจะนำไประกอบอาหารเป็นแกงต่างๆ โดยเฉพาะหมูชะมวงซึ่งเป็นเมนูขึ้นชื่อที่ปรุงจากผักชะมวง และส่วนของลำต้นยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นเครื่องเรือนและใช้ในการก่อสร้าง สามารถนำผลใบแก่หมักเป็นกรดฟอกหนังก่อนที่จะนำมาผลิตเป็นหนังตะลุง น้ำยางจากลำต้นสามารถนำมาผสมกับน้ำมันขัดเงาได้

ต้นชะมวง เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ไม้ยืนต้นเขตร้อน มีขนาดลำต้นเล็กจนถึงปานกลาง มีความสูงทั่วไประหว่าง 5-10 เมตร แต่พบบางต้นสูงถึง 30 เมตรก็มี เรือนยอดเป็นพุ่ม สีเปลือกของลำต้นมีสีน้ำตาลแก่อมเทา ผิวเปลือกเรียบแต่เมื่อเริ่มแก่ผิวเปลือกจะเริ่มแตกแห้งเป็นสะเก็ดตามแนวยาว ทำให้เกิดเปลือกผิวที่ขรุขระรอบลำต้นและมองสีผิวเปลือกไม้เป็นเทา  มีน้ำยางสีขาวขุ่นเกือบเหลืองไหลตามเปลือกไม้ ใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับข้าง โคนใบโค้งมน ปลายใบแหลม ใบเรียบ ผิวใบและท้องใบเป็นมันลื่น ขอบใบเรียบ ใบหนาและกรอบเป็นมัน ออกดอกสีเหลืองแยกเพศตามซอกใบและกิ่ง ดอกมีกลิ่นหอม ให้ผลกลม ตัวผลแป้น ผลมีสีผิวเหลืองเป็นมัน เนื้อในมีสีเหลือง ตรงกลางผลมีเมล็ดแบนทรงรีประมาณ 3-4 เมล็ด

แม้ว่าการขยายพันธุ์ต้นชะมวงจะสามารถทำได้ทั้งการปักชำ การตอนกิ่งและการเพาะเมล็ด แต่ที่นิยมกันมากจะเป็นการใช้เมล็ดมาเพาะพันธุ์ โดยนำเมล็ดที่ได้จากผลที่สุกจัดจนร่วงจากต้นมาตากแห้งราว 1 สัปดาห์ แล้วจึงนำไปเพาะในถุงดำจนครบ 2 เดือนก่อนที่จะนำไปลงแปลงปลูกต่อไป โดยช่วงแรกต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอจนกว่าต้นจะแข็งแรงจึงจะเว้นช่วงการให้น้ำได้

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook