สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นตะกู ไม้มงคลหายาก

ต้นตะกู ไม้ที่น้อยคนนักจะรู้จัก แต่หากเอ่ยชื่อต้นกระทุ่มบกหรือกระทุ่มเฉยๆ อาจจะมีคนคุ้นหูขึ้นมาบ้าง ทั้งที่ชื่อตะกู เป็นชื่อดั้งเดิมที่คนรุ่นเก่าเขาใช้เรียกขานกันมายาวนานและเป็นหนึ่งในไม้มงคลที่มีตำนานเล่าขานกันมาช้านาน ว่าหากวันดีคืนดีต้นไม้ชนิดไปขึ้นที่บ้านไหน แสดงว่าเจ้าของแห่งนั้นเป็นผู้มีบุญ ดังนั้นใครที่นำมาปลูกไว้ในขอบเขตรั้วบ้านก็จะถือเป็นมงคลไม่น้อย เพราะไม้ชนิดนี้ตามความเชื่อของชาวอินเดียบางกลุ่มว่าเป็นไม้ที่พระกฤษณะโปรดปรานยิ่งนัก และจะนำดอกไม้จากต้นตะกูนี้ไปใช้ในการบูชาเทพเจ้าในพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ

ต้นตะกูเป็นไม้ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสิ่งมีชีวิตชนิดบุกเบิกที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ พบได้ในเขตป่าดงดิบในประเทสต่างๆ ในทวีปเอเชีย เช่น ปากีสถาน อินเดีย เนปาล มาเลเซีย เมียนมาร์ อินโดนีเซียและไทย รวมไปถึงพื้นที่ในหมู่เกาะนิวกินี ไม้ชนิดนี้สามารถเจริญได้ดีในพื้นที่ที่มีความชุ่มชื้นสูง แม้ว่าช่วงเริ่มต้นเติบโตจะไม่เติบโตเร็วนัก แต่เมื่อมีการย้ายปลูกลงดินไม่เกิน 1 ปี จะมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว กล่าวคือมีความสูงราว 3-4 เมตรภายใน 1 ปี และหลังจากนั้นจะสูงเพิ่มขึ้นปีละ 2-3 เมตรเลยทีเดียว

เนื้อไม้ที่ได้จากต้นตะกูจะมีความเนียนละเอียด น้ำหนักเบา แมลงประเภทปลวกและมอดไม่กิน จึงมักถูกนำไปทำไม้แปรรูปเพื่อใช้ทำส่วนประกอบในงานก่อสร้างบ้านเรือน เช่น วงกบหน้าต่าง ประตู ไม้พื้นและเสาเรือน บ้างก็นำไปทำกลอง ทำเรือ และนำไปทำเป็นเครื่องใช้และของตกแต่งบ้าน ในประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียได้ปลูกเป็นสวนป่าเพื่อนำมาใช้เป็นไม้เศรษฐกิจ เพราะมีอัตราการเติบโตไว้ ทำให้สามารถนำมาใข้ประโยชน์ได้เร็วขึ้นตามไปด้วย ซึ่งในประเทศฟิลิปปินส์จะนำเยื่อไม้ที่ได้จากต้นตะกูที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ไปผลิตเป็นกระดาษที่มีความเหนียวและผลิตเป็นไม้อัดได้ โดยหลังจากที่ตัดมาใช้ประโยชน์แล้วต้นตะกูจะแตกหน่อเติบโตต่อไปได้ถึง 1-4 หน่อ ทำให้สามารถตัดซ้ำได้ทุก 5 ปี เป็นไม้ที่ไม่ค่อยมีกิ่งก้านแตกแขนงรุงรัง เพราะจะมีพฤติกรรมสลัดกิ่งตามธรรมชาติเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของลำต้น ทำให้ได้ปริมาณเนื้อไม้มากเมื่อนำมาแปรรูป นอกจากนี้ต้นตะกูยังเป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี และต้นที่มีอายุมากกว่า 2 ปีจะทนต่อไฟป่าและน้ำท่วมได้ด้วย ดังนั้นเกษตรกรที่สนใจทำสวนป่าหลายรายจึงหันมาปลูกต้นตะกูที่เป็นไม้พันธุ์หายากเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำเนื้อไม้มาใช้ประโยชน์ทดแทนไม้หวงแหนบางชนิด

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook