สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นตะเคียน พบได้ในป่าดิบทั้งป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น

ต้นตะเคียน มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Iron Wood  ซึ่งแปลตรงตัวว่าไม้เหล็ก เพราะเป็นไม้ที่ขึ้นชื่อเรื่องความแข็งแกร่ง และมีน้ำหนักมาก จัดเป็นไม้เศรษฐกิจที่พบในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบไม้ชนิดนี้ได้ในป่าดิบทั้งป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น  สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการต่อเรือหรืองานก่อสร้างต่าง ๆ เช่นทำเป็นบานประตู วงกบ พื้น รวมถึงนำมาประกอบเป็นเครื่องมือทางการเกษตร เครื่องเรือน ด้ามปืนและใช้เป็นไม้หมอนรางรถไฟอีกด้วย นอกจากความแข็งแกร่งทนทาน เนื้อเหนียวและมีความยืดหยุ่นดีแล้ว จุดเด่นของไม้ชนิดนี้คือผิวเนื้อสวย เมื่อนำมาขัดเงาและขัดจะมีผิวเนื้อเงาวาว เรียบเนียน นอกจากนำเนื้อไม้มาใช้ประโยชน์แล้ว ส่วนต่าง ๆ ของไม้ชนิดนี้ยังสามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ เช่นแก่นไม้ ใช้เป็นยาแก้กษัย บำรุงโลหิต เปลือกต้นใช้บรรเทาอาการลงแดง  ดอกตะเคียนใช้เข้าตำรับยาเกสรร้อยแปดได้ และยังสามารถปลูกไว้ได้ร่มเงากันลม และช่วยลดมลพิษทางอากาศได้

ต้นตะเคียน  เป็นต้นไม้ไม่ผลัดใบ ขนาดใหญ่ มีความสูงระหว่าง 20-40 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มหนาแน่นลักษณะคล้ายเจดีย์ ลำต้นมีเปลือกสีน้ำตาลเข้ม เปลือกไม้หนาแตกเป็นร่อง เนื้อไม้ส่วนกระพี้จะมีสีน้ำตาลอ่อน ส่วนแก่นไม้นั้นมีสีแดงอมน้ำตาล ใบหนา โคนใบกว้าง ปลายใบแหลม เส้นแขนงชัดเจน แตกดอกออกมาเป็นช่อตามง่ามใบ ดอกมีสีขาว ให้กลิ่นหอม โดยจะออกดอกประมาณปีละ 2-3 ครั้ง แต่ในบางปีอาจจะไม่มีดอกก็ได้ การกระจายพันธุ์ของไม้นี้ค่อนข้างอยู่ในวงจำกัด เพราะเมล็ดมีอายุในการงอกจำกัด หากจะเพาะชำต้องรีบทำทันทีที่เก็บเมล็ดมาจากต้น เพื่อให้เมล็ดเกิดอัตราการงอกที่ดี ทำให้ปริมาณของต้นตะเคียนนั้นน้อยลงไปเรื่อย ๆ

สำหรับการทำสวนต้นตะเคียนนั้นก็ไม่ได้แตกต่างจากการปลูกไม้ป่าทั่วไป โดยให้ความสำคัญกับต้นกล้าที่นำมาปลูกควรเป็นต้นกล้าที่แข็งแรงมีอายุราว 1 ปี เพื่อให้มีอัตราการรอดสูง ก่อนการย้ายปลูกควรให้ต้นกล้าได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่ประมาณ 10-14 วัน แล้วจึงนำต้นกล้าจุ่มน้ำไว้เพื่อซึมซับน้ำเต็มที่ก่อนจะแกะถุงดำและทำการถมดิน โดยเว้นระยะประมาณ 4*4 เมตร เพื่อจะได้ปลูกพืชตระกูลถั่วแซมระหว่างต้น เพื่อกระตุ้นการเติบโตของต้นไม้ ที่สำคัญคือต้องปลูกในบริเวณที่ได้รับแสงดี ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดในช่วง 6 เดือนแรกจนกว่าไม้จะแข็งแรง แล้วปล่อยให้ไม้ค่อยๆ เติบโต โดยอายุที่สามารถตัดฟันไม้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 50-100 ปีขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของพื้นที่ปลูก ทั้งส่วนของดินและภูมิอากาศอีกด้วย

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook