สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นตะแบก ดอกสีชมพูอมม่วงสวยงาม

ต้นตะแบก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lagerstroemia floribunda Jack var.floribunda หรือที่รู้จักในชื่อ Thai crape myrtle หรือ Malayan Crape Myrtle และ Kedah Bungor เป็นพืชในวงศ์ Lythraceae มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนแถบทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้มากในป่าดงดิบเขตร้อนในประเทศมาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซียและไทย  ในประเทศไทยเราได้จัดว่าไม้ชนิดนี้เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสระบุรี พบไม้ชนิดนี้ในป่าที่มีความชื้นสูง เช่นป่าดงดิบในภาคใต้ของประเทศไทย และป่าเบญจพรรณในภาคอื่นๆ ของประเทศ และยังสามารถพบได้ตามหัวไร่ปลายนาที่มีความชุ่มชื้นอีกด้วย

ลักษณะลำต้นของตะแบกจะมีลำต้นขนาดเล็กและขนาดกลาง มีความสูงตั้งแต่ 6 เมตรไปจนถึง 25 เมตร ตามความอุดมสมบูรณ์และสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต มีทรงพุ่มรูปกรวยปลายมนหนาแน่น  เปลือกของลำต้นมีสีเทา ผิวเรียบเป็นมัน มีรอยเป็นวงสีขาวรอบต้นคล้ายผิวเปลือกต้นฝรั่ง  บางครั้งแตกเป็นสะเก็ดเห็นเป็นปื้นสีน้ำตาลอมเทา มีรอยบุ๋มตื้นๆ ปกคลุมไปทั่วลำต้น แตกใบเดี่ยว ปลายใบโค้งกลม  มีความกว้างระหว่าง 5-4 เซนติเมตร และมีความยาวระหว่าง 13-20 เซนติเมตร ออกแบบเรียงสลับ ใบอ่อนมีสีม่วงแดงและปกคลุมไปด้วยขนอ่อน และผิวใบจะเริ่มเกลี้ยงและเปลี่ยนเป็นสีเขียวแก่เมื่อใบแก่ขึ้น เนื้อใบมีความยืดหยุ่นและเหนียว เป็นไม้ที่มีความเขียวชอุ่มตลอดปี เว้นเฉพาะในเขตป่ามรสุมที่อาจจะมีการผลัดใบในช่วงมรสุม

ต้นตะแบกจะออกดอกเป็นช่อที่ประกอบด้วยดอกย่อยหลายดอกบริเวณปลายกิ่ง ช่อดอกแตกแบบแยกแขนงชูชันโดดเด่นสูงกว่าเรือนยอด ช่อดอกชูขึ้นมีความสูงถึง 50 เซนติเมตร เมื่อเริ่มบานกลีบดอกจะมีสีชมพูอมม่วง แล้วเปลี่ยนเป็นสีขาวนวลตาเมื่อมีอายุมากขึ้น ทำให้ต้นตะแบกคล้ายดั่งมีดอกไม้หลายสีเมื่อดอกทยอยบาน ดอกย่อยมีกลีบดอก 6 กลีบ ผิวกลีบดอกอ่อนนุ่มไม่เรียบ มีกลีบเลี้ยงสีน้ำตาลและมีตาดอก ให้ผลขนาดเล็ก ผลอ่อนสีเขียวและแห้งเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่ ด้านในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลขนาดเล็กจำนวนมาก

การปลูกต้นตะแบกนั้น จะเริ่มเก็บเกี่ยวเมล็ดจากผลแก่เต็มที่ในช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคม ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ แล้วนำเมล็ดที่ได้มาเพาะกล้าโดยใช้เวลาสำหรับรอการงอกของเมล็ดราว 3 สัปดาห์ และใช้เวลาดูแลต่อไปราว 4 เดือนเมื่อต้นกล้ามีลำต้นตั้งตรงและมีความสูงประมาณ 20 เซนติเมตร จึงย้ายลงแปลงปลูกที่มีแสงแดดส่องถึงได้ดีตลอดทั้งวัน ดินที่ปลูกต้องระบายน้ำได้ดีและมีอินทรียวัตถุที่เน่าเปื่อยสลายอยู่ในดินอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้ต้นไม้เติบโตได้เร็วขึ้น

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook