สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นตะโก ไม้ประดับทนแดด

ต้นตะโก เป็นไม้พันธุ์ดั้งเดิมที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย กัมพูชา เมียนมาร์ ลาวและเวียดนาม เป็นไม้ป่าที่พบเห็นได้ตามธรรมชาติ ทั้งป่าละเมาะ ป่าดงดิบและบริเวณชายทุ่งนา ที่มีความสูงระหว่าง 40-300 เมตรระดับน้ำทะเล ทั่วทุกภูมิภาคทั้งประเทศ มีชื่อเรียกในแต่ละท้องถิ่นแตกต่างกันไป เช่น ทางภาคเหนือของไทยเราส่วนใหญ่ จะเรียกว่า พระยาช้างดำ ส่วนจังหวัดเชียงใหม่จะเรียกว่า มะถ่านไฟผี โดยชื่อทั้งสองนั้นน่าจะมาจากสีของเนื้อไม้ที่ดำขลับของต้นตะโก ส่วนต่างๆ ของไม้ชนิดนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน ทั้งสำหรับนำผลมารับประทานเป็นผลไม้ หรือจะนำมาใช้เป็นสีย้อมผ้าก็ได้แต่คุณภาพในการย้อมนั้นด้อยกว่าสีจากลูกมะพลับมาก เนื้อไม้มีความยืดหยุ่น เนื้อเนียนและเหนียว มักนำมาผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ นำมาประกอบเป็นเครื่องใช้ไม้สอย นำทำเป็นเสาเรือนและเป็นส่วนประกอบในงานก่อสร้างต่าง ๆ นอกจากนั้นยังนำมาปลูกเป็นไม้ดัดในงานภูมิสถาปัตย์อีกด้วย

สำหรับการนำมาใช้ประโยชน์เชิงสมุนไพรนั้น แพทย์พื้นบ้านจะนำเปลือกและแก่นของต้นตะโกนามาต้มในน้ำสะอาดและดื่มเพื่อบำรุงกำลัง หากนำมาต้มในน้ำและเติมเกลือไปด้วย จะใช้เป็นยาบ้วนปากเพื่อรักษาโรคในช่องปากได้ ทั้งโรคเหงือกและฟัน ผลตะโกนำมาต้มกับน้ำสะอาดใช้ดื่มเพื่อบำรุงร่างกาย ขับพยาธิ ส่วนผลสดใช้รับประทานเพื่อบรรเทาอาการปวดมวนในช่องท้อง เป็นต้น

ต้นตะโกที่พบกันมากในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกัน 4 สายพันธุ์ คือ ตะโกนา ตะโกดัด ตะโกสวน และตะโกดำ ซึ่งแต่ละพันธุ์ก็จะมีรูปลักษณะของลำต้นแตกต่างกันไป  โดยตะโกนาจะมีความสูงประมาณ 10-15 เมตร ลำต้นจะมีเปลือกสีดำ มีร่องตามความยาวของลำต้น ผิวขรุขระ เรือนยอดทรงพุ่ม เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ ลำต้นเปลา ปลายกิ่งย้อยชี้ลงดิน ส่วนตะโกดัดจะมีขนาดเล็กกิ่งก้านเยอะดัดง่าย ส่วนของใยนั้นจะมีสีเขียว ใบรี ขนาดใหญ่ ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ ผลิดอกสีเหลืองครีมเป็นช่อที่ซอกใบและปลายกิ่ง ผลไม้มีสีเหลืองเข้มปนส้มเมื่อสุก

ต้นตะโกเป็นไม้ที่ได้รับความนิยมในการนำมาตกแต่งสวนและนำมาเพาะเป็นไม้กระถาง โดยเฉพาะต้นตะโกดัดขนาดเล็กที่เรียกกันว่า ต้นตะโกหนู เป็นต้นไม้ที่นิยมนำมาใส่กระถางเป็นบอนไซ เพราะมีกิ่งก้านใบที่มีขนาดเล็ก ใบเขียวขจีได้ในทุกฤดู ดูแลง่าย ทนต่อสภาพแห้งแล้ง ไม่มีแมลงมาก่อกวน รดน้ำเพียงวันละ 2 ครั้งและหมั่นตัดแต่กิ่งสม่ำเสมอ ก็สามารถจัดวางเป็นไม้ประดับสวยๆ บนโต๊ะทำงานหรือมุมห้องได้แล้วครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook