สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นฝาง พืชที่อยู่ในวงศ์ถั่ว

ต้นฝาง เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ถั่ว ภาษาอังกฤษ เรียก Sappan Tree โดยทั่วไปเราจะรู้จักกันในนาม ฝางเสน หรือ ฝางส้ม ตามสีของแก่นไม้ มีการกระจายพันธุ์ในแถบแอฟริกา อินเดีย พม่า จีนตอนใต้ มาเลเซียและไทย ในพื้นที่เนินเขาที่มีหินปูนหรือดินเหนียว เป็นพืชที่มีการเจริญเติบโตรวดเร็ว แม้ว่าคนส่วนใหญ่อาจจะไม่คุ้นชินหรือรู้จักต้นฝาง แต่หากเราจะกล่าวว่า สีชมพูแดงในน้ำยาอุทัย นั้นได้มาจากแก่นฝางอาจจะทำให้หลายคนอยากรู้จักมากขึ้น เพราะแต่เดิมคนจะนำแก่นฝางมาใช้ประโยชน์เป็นสีผสมอาหารด้วยการนำมาต้มในน้ำสะอาดให้เกิดสีแดงหรือชมพูเข้ม บางครั้งนำไปผสมในน้ำดื่มเพื่อใช้ดื่มกินเพื่อดับกระหาย คลายร้อน จนเป็นที่มาที่นำมาแต่งสีในน้ำยาอุทัยต่อมา นอกจากนั้น แก่นฝางยังมีสรรพคุณในการใช้ขับเลือด บำรุงโลหิต ขับเสมหะ ส่วนของเนื้อไม้นำมาต้มดื่มทำให้มีรอบเดือนสม่ำเสมอ และยังนำส่วนต่างๆ ของฝาง รวมถึงแก่นฝางมาทำสีย้อมผ้าสำหรับผ้าและสิ่งทอต่างๆ  โดยเฉพาะนำมาย้อมผ้าไหมและผ้าฝ้ายซึ่งจะได้สีที่สวยติดทนนาน

ต้นฝางในประเทศไทยเราที่รู้จักกันส่วนมากจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ชนิดแรกนั้นมีแก่นไม้สีแดงฉ่ำ ที่เราเรียกกันว่า ฝางเสน ส่วนอีกชนิดที่พบมากแถบจังหวัดกาญจนบุรี จะมีแก่นฝางสีเหลืองเข้ม จึงเรียกกันว่า ฝางส้ม ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ไม่ต่างกัน แต่การนำฝางมาใช้เป็นยาสมุนไพรนั้น ไม่ควรใช้กับหญิงที่กำลังตั้งครรภ์เพราะอาจขับเลือดจนให้เกิดภาวะแท้งลูกได้ และสำหรับบุคคลทีมีโรคประจำตัว ต้องทำการปรึกษากับแพทย์ประจำตัวก่อนนำมาใช้เสมอ เพื่อป้องกันฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่อาจไม่เหมาะสมกับโรคประจำตัวได้

ต้นฝาง เป็นไม้ผลัดใบ มีความสูงระหว่าง 5-15 เมตร บริเวณลำต้นและกิ่งก้านมีหนามที่แข็งและคมปกคลุมไปทั่ว เนื้อไม้เป็นไม้เนื้อแข็ง มีผิวเนื้อไม้สีเหลืองส้ม เนื้อไม้ละเอียดปานกลาง มีเสี้ยนตรง เมื่อโดนอากาศแล้วจะกลายเป็นสีน้ำตาลเข้มออกแดงเหมาะแก่การนำไปผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ เมื่อผลัดใบแล้วจะผลิใบเร็วมาก ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงสลับ ประกอบด้วยใบย่อยสีเขียวจำนวนมาก ใบมีลักษณะขอบขนาน ปลายกลม ผิวใบเรียบเนียน แตกดอกที่ซอกใบบริเวณปลายกิ่งเป็นช่อสีเหลือง ประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ให้ผลเป็นฝักแบน ปลายสอบเข้าหากัน เปลือกฝักแข็ง สีน้ำตาลเข้ม ด้านในฝักมีเมล็ด เมื่อฝักแก่เต็มที่ในหน้าแล้งจะแห้งและแตก ทำให้เมล็ดร่วงหล่นกระจายไปรอบบริเวณ รอจนได้รับความชื้นในช่วงฤดูฝนจึงงอกและเจริญเติบโตในระยะเวลาอันสั้น

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook