สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นพลวง ไม้ใหญ่แห่งป่าเต็งรัง

ต้นพลวง ชื่อเต็มๆ เราเรียกกันว่า ยางพลวง หลายจังหวัดอาจจะเรียกชื่อไม่เหมือนกัน เช่น ในภาคกลางเราจะเรียกว่า พลวง ส่วนแถบจังหวัดสุโขทัยและพิษณุโลกจะเรียกว่า ต้นควง จังหวัดปราจีนบุรี อุดรธานีและอุบลราชธานี เรียกกันว่าตันกุง ทางเหนือเรียกตองตึง และทางบุรีรัมย์จะทับศัพท์เขมรว่า คลอง  มักพบได้ตามธรรมชาติในป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณแทบทุกภาคของประเทศไทย ยกเว้นทางภาคใต้ ยิ่งเป็นพื้นที่ที่แสงแดดเข้าถึงมากจะยิ่งทำให้ต้นไม้มีความสมบูรณ์มากขึ้น แต่เดิมส่วนที่นำไปใช้ประโยชน์มากคือส่วนของใบ ที่มีขนาดใหญ่สามารถนำไปใช้เป็นฝาของกระท่อมและใช้เป็นหลังคากระท่อม และยังสามารถนำมาใช้เป็นวัสดุห่อของได้ สำหรับไม้จากลำต้นจะใช้ในงานก่อสร้างต่างๆ

น้ำมันยางจากต้นพลวงที่เป็นยางข้น สีดำแกมเทา สามารถนำมากลั่นเพื่อทำเป็นน้ำมันระเหยด้วยไอน้ำ น้ำมันยางที่ได้นำไปเป็นน้ำมันทาไม้ ยางแนวต่อไม้ ใช้เป็นน้ำมันชักเงาเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ และใช้เป็นน้ำมันกันน้ำทาร่มกระดาษ เมื่อนำน้ำมันยางไปผสมเข้ากับขี้เลื่อยอัดเป็นไต้จุดไฟได้ ในทางแพทย์พื้นบ้านหรือยาโบราณน้ำมันยางจัดเป็นยาที่มีฤทธิ์ร้อน สามารถนำมาใช้ในการระงับหนอง ใช้ทาผิวหนังภายนอกที่มีอาการอักเสบเน่าเปื่อยเพื่อระงับการติดเชื้อ และใช้รักษาแผลผิวหนังที่เกิดจากโรคเรื้อน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของต้นพลวงจะเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีความสูงได้ถึง 30 เมตร เป็นไม้ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหนา บริเวณกิ่งจะปรากฏแผลที่เกิดจากใบได้อย่างชัดเจน เปลือกของลำต้นมีสีเทาออกน้ำตาล มีรอยแตกอย่างเห็นได้ชัด เป็นร่องลึกตามแนวตั้ง มีเปลือกไม้ที่หนาลำต้นสูงชะลูดแตกกิ่งที่ปลายโดยเป็นกิ่งที่มีความคดงอ มีใบเดี่ยวขนาดใหญ่ทรงใบโพธิ์ ออกใบแบบเรียงสลับ ฐานใบเว้าเป็นรูปทรงคล้ายภาพวาดหัวใจ ส่วนกลางใบกว้างมนแล้วสอบลงเป็นปลายแหลมหรือทู่บริเวณปลายใบ มีเส้นแขนงใบขนานกันเป็นเส้นตรงจำนวน 10-15 คู่ เนื้อใบหนา เรียบแต่บางครั้งก็พบว่ามีขนอ่อนๆ ปกคลุมได้เช่นกัน แตกดอกเป็นช่อแยกแขนงบริเวณซอกใบและยอดของกิ่ง ช่อดอกสั้น มีกาบหุ้มช่อดอกเมื่อดอกเริ่มผลิ ดอกประกอบด้วยกลีบเลี้ยงจำนวน 5 กลีบ สีเขียวแกมน้ำตาล โคนกลีบซ้อนเป็นเนื้อเดียวกัน ปลายกลีบเป็นซ้อนและม้วนตัวบิดวนคล้ายใบพัด ดอกมีกลิ่นหอม มัดจะผลิดอกในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม

การปลูกและการผลิตต้นกล้าพันธุ์นั้นสามารถทำได้ด้วยการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิด ที่ระบายน้ำได้ดี ยกตัวอย่างเช่น ดินร่วนปนทราย ดินลูกรัง ดินทราย เป็นต้น และชั้นดินควรมีความลึกอย่างน้อย 50 เซนติเมตร และมีปริมาณน้ำฝนไม่มากเกินไปกว่าปีละ 1,800 มิลลิเมตร และเป็นพื้นที่ที่มีแสงแดดส่องถึงตลอดทั้งวัน

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook