สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นมะกรูด พืชเศรษฐกิจแห่งบ้านนา

ต้นมะกรูด เป็นต้นไม้ทรงพุ่มขนาดเล็ก บริเวณลำต้นและกิ่งมีหนามขนาดใหญ่และแข็ง  มักนิยมใช้ใบและผลมะกรูดเป็นสมุนไพรและเครื่องเทศ รวมทั้งใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหาร โดยเฉพาะการนำมาโขลกผสมกับเครื่องเทศอื่นๆ เป็นพริกแกง เด็ดใบสดๆ ใส่ในต้มยำ หรือหั่นฝอยๆ โรยหน้าพะแนงหรือยำต่างๆ ก็ให้กลิ่นหอมน่ารับประทาน น้ำจากผลมะกรูดมีรสเปรี้ยวแบบมีเอกลักษณ์ใช้แต่งรสอาหารที่มีกลิ่นคาว ช่วยดับกลิ่นได้อย่างดี จึงกลายเป็นเครื่องปรุงที่มีติดตู้เย็นกันเป็นประจำ

แต่ละส่วนของต้นมะกรูด ตั้งแต่ ราก ผล ใบ สามารถนำมาใช้ประโยชน์เชิงสมุนไพรไห้หลายประการ เช่น รากต้นมะกรูดนั้นมีรสจืด ใช้แก้อาการร้อนในในช่องปากและลำคอ ส่วนของผล ใช้ผิวผลแห้งชงดื่มบำรุงหัวใจ น้ำของผลมะกรูดใช้ขับเสมหะ และใช้เป็นน้ำยาละโลมผมเพื่อให้ผมดำวาวนุ่มสลวย เป็นต้น

ในเชิงการค้า การปลูกต้นมะกรูดนั้น เพื่อนๆ เกษตรกรอาจจะเน้นที่การปลูกเพื่อตัดใบมะกูดออกขาย เพราะเพียงเท่านี้ก็สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำเพราะสามารถตัดใบได้ทุก 45 วัน อย่างสม่ำเสมอ และตลาดก็มีความต้องการจำนวนมาก โดยเฉพาะโรงงานที่ผลิตเครื่องแกง และโรงงานผลิตน้ำมันหอมระเหย รวมถึงตลาดต่างประเทศ แต่กลับมีคนปลูกไม่มากนัก   ทำให้ราคาใบมะกรูดนั้นไม่แกว่ง

การปลูกมะกรูดตัดใบควรปลูกระยะชิด โดยเฉลี่ยแล้วจะให้ผลผลิตประมาณ 1 ตันต่อไร่ ในทุกรอบการตัด 45 วัน โดยใช้ระยะปลูก 50*50 เซนติเมตร แบบสลับฟันปลาเพื่อป้องกันไม่ให้พุ่มของต้นมะกรูดขี่กัน ซึ่งจะปลูกได้ราว 4,500-5,000 ต้น/ไร่ ก่อนการปลูกต้นมะกรูด ควรปลูกปอเทืองไว้ล่วงหน้าราว 45 วัน เพื่อเป็นการเพิ่มธาตุไนโตรเจนในดิน ลดการเติมปุ๋ยคอก แล้วไถกลบตากดินไว้อีก 15 วัน จึงไถดะและไถพรวนตามปกติเพื่อเตรียมแปลงยกร่องตามเหมาะสมเพื่อกันน้ำขัง แลงปลูกควรกว้าง 1 เมตร และเว้นระยะห่างระหว่างแปลง 1 เมตร เพื่อง่ายต่อการดูแลและเก็บเกี่ยว

การขยายพันธุ์ที่นิยมคือการขยายพันธุ์ด้วยกิ่งตอน เพราะให้ผลผลิตเร็ว ไม่มีกิ่งแขนงที่แตกตามลำต้นมากเกิน โดยจะตอนกิ่งเองหรือสั่งซื้อต้นพันธุ์ก็ได้ เมื่อรากเดินเต็มตุ้ม ก็กรีดตุ้มตอนและถุงออกอย่างทนุถนอมแล้วนำลงดินได้เลย และนำไม้ค้ำมาปักเอียง 60 องศาเพื่อพยุงต้นมะกรูดให้มั่นคง กันรากขาดได้ คลุมดินด้วยพลาสติก ให้น้ำเช้าเย็นในช่วง 2 เดือนแรก แล้วลดเหลือเพียงวันละครั้ง หรืออาจะต้องวางระบบน้ำหยดแบบเทปแบนหรือสปริงเกอร์เพื่อประหยัดแรงงาน เวลา และป้องกันแมลงศัตรูพืชได้ พอเริ่มเข้าสู่ปีที่ 2 หลังการปลูก ก็สามารถตัดใบไปขายกันได้แล้วครับ และยังสามารถตัดได้ทุกๆ 45 อีกวันไปเรื่อยๆ เรียกได้ว่าลงทุนครั้งเดียว เก็บกินกันไปนานๆ เลยครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook