สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นยมหอม ไม้ใหญ่ โตไว

ต้นยมหอม ต้นไม้ที่ให้ผลผลิตเนื้อไม้ที่แข็งแรง คงทน เพื่อใช้ในการผลิตไม้แปรรูปสารพัดรูปแบบ ทั้งเพื่อนำไปประกอบเป็นเครื่องเรือนหรือเฟอร์นิเจอร์ ใช้ในงานก่อสร้างในส่วนของโครงสร้างที่สามารถรับแรงกดทับสูง น้ำหนักมาก และใช้เป็นส่วนต่างๆของอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ โดยทั่วไปแล้ว ไม้ยมหอมที่มีอายุราว 5 ปี และมีขนาดหน้ากว้างราว 4 นิ้วขึ้นไปจะสามารถตัดมาทำไม้แปรรูปได้ ยิ่งไม้ที่มีอายุมากกว่า 15 ปีจะมีเนื้อไม้ที่แข็งแรง หน้ากว้าง สามารถรอบรับน้ำหนักได้ดีและทนทาน มีปริมาตรสูง จะเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก และยิ่งนับวันจะหาไม้ชนิดนี้ได้ยากขึ้น จึงเป็นโอกาสแก่เกษตรกรที่ชอบปลูกไม้ป่าขนาดใหญ่ในการปลูกแซมพื้นที่ในเรือกสวน เพื่อสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในระยะยาว

ลักษณะเด่นของเนื้อไม้ที่ได้จากต้นยมหอม คือ ลายของเนื้อไม้จะมีสีโทนน้ำตาลแดง เป็นสีที่เป็นมงคลทำให้คนนิยมนำมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ อีกทั้งเนื้อไม้มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ จึงกลายเป็นเสน่ห์ของไม้ชนิดนี้นอกเหนือจากความแข็งแรง ทนทาน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ขณะเดียวกัน นอกจากเนื้อไม้ที่นำไปแปรรูปแล้ว ยางที่ได้จากลำต้นยังถูกนำไปใช้เป็นสมุนไพรในการห้ามเลือดบริเวณผิวหนังที่เกิดแผลสด และใช้ในการสมานแผล ขณะที่ดอกและผลสามารถนำไปต้มในน้ำสะอาดเพื่อดื่มบรรเทาอาการไข้และแก้ประจำเดือนมาไม่ปกติในสตรีได้

ต้นยมหอมมักพบได้ในป่าเบญจพรรณและป่าดงดิบชื้น มีความสูงของลำต้นตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป ลำต้นเปลา สีเปลือกของลำต้นเป็นสีเทาเข้ม เปลือกต้นหนา ผิวลำต้นแตกลายเป็นแนวตั้งตามความยาวของลำต้น ใบประกอบสีเขียวแตกเป็นช่อ แตกดอกสีเหลืองครีมหรือสีแดงเป็นช่อรวงยาว ทิ้งตัวห้อยลงจากปลายกิ่งและซอกใบ มีผลขนาดเล็กทรงรี เมื่อแก่จัดผลจะแตกเองตามธรรมชาติ ทำให้เมล็ดภายในผลลอยไปกับลมและสามารถแพร่พันธุ์ได้ในพื้นที่ที่ไกลจากโคนต้นได้

การปลูกการต้นยมหอม ควรปลูกแซมกับไม้อื่นที่มีความต้านทานต่อโรคและอากาศได้ดี ดินในพื้นที่ปลูกควรเป็นดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี แมลงศัตรูพืชที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งคือหนอนผีเสื้อกลางคืนที่มักจะชอบทำลายยอดอ่อนในยามค่ำคืนของต้นฤดูฝน ส่วนโรคพืชที่สำคัญคือโรคราสนิมและโรคเน่าคอดิน และควรตัดแต่งกิ่งอยู่เสมอเพื่อให้ต้นยมหอมเติบโตได้ดีขึ้นจนมีความสูงราว 5 เมตร จึงปล่อยให้เกิดทรงพุ่มได้

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook