สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นยูคาลิปตัส สารพัดประโยชน์

แหล่งกำเนิดของยูคาลิปตัสมาจากทวีปออสเตรเลีย​ และได้นำเข้ามาปลูกในประเทศ​ไทยในสมัยของรัชกาล​ที่ 5 เพราะต้นยูคาลิปตัสมีประโยชน์​มากมายหลายประการ ได้แก่ น้ำมันของยูคาลิปตัส​มีคุณสมบัติ​พิเศษในการบรรเทาอาการคัดจมูก ไอ ภูมิแพ้ รักษาอาการเจ็บคอ ช่วยให้หายใจโล่งขึ้น จนถูกนำมาเป็นส่วนผสมของยาแผนปัจจุบันที่ใช้เพื่อการบรรเทาอาการดังกล่าว ในใบของพืชชนิดนี้มีส่วนช่วย​ในการไล่ยุงได้เป็นอย่างดี เนื้อไม้ของต้นยูคาลิปตัส​ขนาดเล็ก​เหมาะกับการนำมาทำฟืนเผาถ่าน เพราะจะให้ถ่านที่มีคุณภาพ ไม่มีควัน ให้ความร้อนที่สูงกว่าเนื้อไม้อื่นๆ ส่วนเนื้อไม้ยูคาลิปตัสขนาดใหญ่เหมาะกับการทำเฟอร์นิเจอร์​ เสาเข็ม​ นั่งร้าน ซึ่งถือว่าเป็นต้นไม้ที่ให้ประโยชน์​อย่างมากมายเลยทีเดียวล่ะครับ

การปลูกต้นยูคาลิปตัสต้องมีการเตรียมดินให้พร้อมก่อนเสมอ โดยในสภาพพื้นที่ที่แห้งแล้ง ​ต้องทำการไถปาด เพื่อกำจัดวัชพืชที่ไม่จำเป็นออก ซึ่งต้องทำ​ก่อนจะถึงช่วงฤดูฝน เมื่อเข้าฤดูฝน​ให้ทำการไถพรวน 2 ครั้ง โดยการไถพรวนครั้งแรกให้ใช้ผานสาม การไถพรวนครั้งที่ 2 ให้รอฝนตกหนักประมาณ​ 2-3 ครั้ง ซึ่งใช้ผานเจ็ด ส่วนพื้นที่ที่เป็นไร่ที่เคยทำเกษตรมาก่อน ต้องรอให้ถึงฤดูฝน​เพื่อทำการไถพรวนพื้นที่ เพื่อกำจัดวัชพืช​ เมื่อทำการไถพรวนเสร็จ​เรียบร้อย​แล้ว ให้ทำการกำหนดระยะปลูกให้ชัดเจน ​โดยระยะการปลูกที่นิยมปลูกกัน ได้แก่ 2 x 2 เมตร เป็นระยะที่สามารถ​ปลูกได้ ได้ถึง 400-800 ต้น/ไร่ เหมาะกับการปลูกในเชิงการทำฟืนหรือเผาถ่าน ส่วนในเชิงอุตสาหกรรม​นั้น ระยะปลูกควรอยู่ที่ 2 x 3 เมตร​ 2 x 4 เมตร และ 4 x 4 เมตร เพื่อทำการขุดหลุมรอต้นกล้าที่มาลงในพื้นที่นั้นๆ

ภายหลังจากการเตรียมดินและกำหนดระยะปลูกเสร็จ​เรียบร้อย​แล้ว ให้ทำการย้ายกล้าที่มีอายุประมาณ​ 3-5 เดือน โดยเลือกปลูกหลังจากวันที่มีฝนตกลงมาแล้ว เพื่อให้ดินมีความชุ่มชื้น​ ข้อสำคัญของการกลบหลุมของพื้นที่แห้งแล้ง ​ก็คือ การกลบหลุมต้องทำเป็นแอ่งเล็กน้อย เพื่อความเหมาะสมในการรับน้ำนั่นเอง ในช่วงแรกๆ ​ต้องมีการกำจัดวัชพืช​อย่างสม่ำเสมอ เพราะวัชพืช​เป็นศัตรู​ชั้นดีในการบดบังแสงและแย่งอาหารของต้นยูคาลิปตัส แต่เมื่อต้นยูคาลิปตัส​โตมากพอ ก็ไม่จำเป็นต้องกำจัดสม่ำเสมอเหมือนในช่วงแรกๆ โดยควรกำจัดวัชพืช​อย่างน้อยปีละครั้งเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว สิ่งที่จำเป็นอีกประการหนึ่ง​เลย ก็คือ การป้องกันการเกิดไฟป่า โดยการทำแนวกันไฟ การกำจัดวัชพืช​ที่เป็นเชื้อเพลิง​ได้ดี การเตรียมพร้อม​และเตรียมอุปกรณ์​ในการรับมือกับไฟป่า

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook