สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นรัก สารพัดประโยชน์ อนาคตงาม

ต้นรัก เป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่ มีการกระจายพันธุ์มากกว่า 2,000 ชนิด พบได้มากที่สุดในเขตประเทศที่มีอากาศอบอุ่นและร้อน ไม่ค่อยพบในเขตประเทศเมืองหนาว มีแหล่งกำเนิดอยู่ในทวีปเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักพบในบ้านเรือนทั่วไป ต้นรักเป็นต้นไม้ที่เจริญเติบโตเร็วมีความสูงประมาณ 5 เมตร เจริญเติบโตได้ทั้งในพื้นที่รกร้าง ชายฝั่งทะเลและริมน้ำ เพราะมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมดี ทนแดดจัด ทนแล้ง อยู่ได้ในดินแทบทุกชนิด โดยเฉพาะในดินทราย

ต้นรักมีรากแก้วที่แข็งแรง เปลือกของลำต้นมีสีขาวอมเทา มียาง เมื่อต้นไม้แก่ขึ้นเปลือกลำต้นจะแตก เนื้อเปลือกมีรูพรุนและผิวหยาบ แต่ด้านในเปลือกเรียบเนียนมียาง ใบของต้นรัก เป็นรูปทรงรี ปลายสั้น แหลม คล้ายรูปใบโพธิ์ มีสีเขียวเข้มและมีขนอ่อนละเอียดบนใบ เมื่อใบแก่เต็มที่จะมีผิวเรียบ มัน เงา ดอกรักมีดอกที่แข็ง แตกช่อเป็นกระจุกทรงสี่เหลี่ยม

ต้นรักถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคตามตำรายาแผนโบราณ โดยนำทั้งต้นมาใช้เพื่อรักษาโรคข้อ บรรเทาอาการหวัด ระงับอาการท้องเสีย และลดอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร และยังสามารถนำมารักษาโรคผิวหนังได้อีกด้วย ส่วนของรากต้นรักนั้น สามารถนำมาสกัดสารออกฤทธิ์ในการต้านมะเร็งผิวหนัง รักษาอาการของตับ รักษาอาหารปวดศีรษะ ลดไข้มาลาเรียและอาการชัก ส่วนใบสามารถใช้เป็นยาบำรุงกำลัง และลดไข้ ส่วนยางสดจากใบใช้รักษาโรคหืดหอบ รักษาโรคผิวหนัง ส่วนของดอกรักนำมาใช้เป็นยาขับปัสสาวะและใช้รักษาอาการบิด แก้พิษแมลงกัดต่อย โดยส่วนที่นิยมนำมาใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคที่นิยมที่สุดคือส่วนของน้ำยางต้นรัก ใบ และราก

ในประเทศไทยเรานั้นอาจแบ่งต้นรักออกเป็น 2 ประเภทคือ รักดอก กับรักต้น โดยรักดอกเป็นไม้ที่ให้ดอกสีขาวหรือ ขาวอมม่วง พุ่มดก ใบหนา นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เก็บเกี่ยวดอกเพื่อนำมาร้อยมาลัยหรือจัดประดับเป็นพานพุ่มต่างๆ ส่วนรักต้นนั้น คือต้นรักใหญ่ที่นิยมกรีดเอาน้ำยางมาใช้ประโยชน์ พบมากใน จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน โดยที่จะกรีดน้ำยางจากต้นรักที่มีขนาดความสูงมากกว่า 1 เมตร ประโยชน์ของน้ำยางจากต้นรักนั้น นำมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องเขิน เพื่อทำการลงรักปิดทอง หรือจะนำไปทากันสนิมกับโลหะต่างๆ ก็ได้ และยังใช้เป็นสมุนไพรอย่างที่ได้เล่ามาแล้วข้างต้นครับ

ปัจจุบันต้นรักในธรรมชาติมีเหลืออยู่น้อยเต็มที เพราะมีการทำลายเยอะ ทำให้น้ำยางของต้นรักกลายเป็นของหายากและราคาแพง หากเพื่อนๆ เกษตรกรเล็งเห็นโอกาสอันงามนี้ก็น่าจะปลูกเป็นล่ำเป็นสันได้เลยนะครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook