สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นลำดวน ไม้ประดับดอกให้กลิ่นหอม

ต้นลำดวน ไม้มงคลที่คนไทยเราต่างได้ยินชื่อมาช้านาน  เป็นพันธุ์พืชที่มีแหล่งกำเนิดอยู่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบการกระจายพันธุ์ในประเทศต่างๆ ในคาบสมุทรอินโดจีนและคาบสมุทรมลายู ต้นลำดวนที่ประเทศกัมพูชาจะเรียกว่า ร็อมดวล นอกจากนี้ดอกลำดวน หรือ Rumduol ก็ยังเป็นดอกไม้ประจำชาติของกัมพูชาอีกด้วย โดยมักนิยมปลูกไว้ในแต่ละบ้าน และนำดอกที่มีกลิ่นหอมมาเป็นส่วนประกอบสำหรับทำขี้ผึ้งแต้มปาก ส่วนของผลสุกนำมารับประทาน และลำต้นนำมาใช้ในการผลิตของใช้ นำมาใช้ในงานก่อสร้างและทำเป็นเชื้อเพลิงได้

สำหรับประเทศไทยเรานั้น ทางภาคเหนือจะเรียกไม้ชนิดนี้ว่า หอมนวล มักพบได้ในป่าดิบแล้งทั่วไป โดยเฉพาะทางภาคอีสานตอนใต้ โดยมีความเชื่อกันว่า การปลูกลำดวนไว้ในอาณาเขตของบ้านจะทำให้คนในบ้านมีความเบิกบาน เป็นที่ตราตึงและได้รับการระลึกถึงจากมิตรสหาย และบ้านหลังนั้นจะมีเสน่ห์ทำให้เกิดความรักความผูกพันแก่ผู้อยู่อาศัย และเชื่อว่าไม้นี้ควรให้ผู้หญิงเป็นคนปลูกในทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบ้านในวันพุธจะยิ่งเสริมสิริมงคลมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นความเชื่อที่สืบต่อกันมา ต้นลำดวนและดอกลำดวนถูกจัดให้เป็นต้นไม้และดอกไม้ประจำจังหวัดศรีสะเกษและจังหวดได้จัดงานเทศกาลดอกลำดวนบานเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนมีนาคมซึ่งเป็นช่วงที่ดอกบานสะพรั่ง ให้กลิ่นหอมไปทั่ว

ต้นลำดวน เป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ ที่มีความสูงระหว่าง 8-20 เมตร ผิวเปลือกไม้มีสีน้ำตาลเข้ม ผิวแตกเป็นร่องขรุขระ ลำต้นตรงชะลูด เรือนยอดหนา ลักษณะคล้ายกรวย กิ่งอ่อนสีเขียว แตกใบเดี่ยวเรียงสลับ ใบมีลักษณะยาว รูปวงรีโคนใบและปลายใบแหลม ผิวใบละท้องใบมีสีเขียว ผิวมันเรียบ ส่วนใบอ่อนจะมีสีแดงก่อนที่จะกลายเป็นสีเขียวเมื่อแก่ แตกดอกสีขาวครีมจนถึงเหลืองอ่อนที่ซอกใบ เป็นดอกเดี่ยวมีกลีบดอกหนาและแข็งซ้อนกัน 2 วง โดยวงด้านในจะมีจำนวน 6 กลีบ ส่วนวงซ้อนด้านนอกจะมีกลีบดอก 3 กลีบที่ใหญ่กว่าปลายงอโค้งเข้าหากันโอบหุ้มกลีบวงในไว้ ดอกจะให้กลิ่นหอมฟุ้งกระจายไปทั่ว ผลออกเป็นกลุ่มประมาณ 20 ผลย่อยต่อกลุ่ม สีเขียวเมื่ออ่อนและเริ่มกลายเป็นสีแดงเข้มเมื่อแก่ ผลไม้มีรสชาติหวานใช้รับประทานได้ ด้านในผลย่อยมีเมล็ดหลายเมล็ด

การขยายพันธุ์นิยมทำด้วยการเพาะเมล็ด สามารถปลูกได้ในดินทุกประเภทที่มีความชุ่มชื้น และเป็นไม้ที่ชอบแสงแดด นิยมปลูกเพื่อใช้เป็นร่มเงาและประดับสวนในงานภูมิสถาปัตย์ เพราะมีรูปทรงพุ่มที่สวยงาม

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook