สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นลำพู ต้นไม้ชายน้ำ

ต้นลำพู เป็นชื่อของพันธุ์ไม้ที่เราต่างได้ยินชื่อกันมายาวนาน ทั้งจากนิทานหิ่งห้อยและเรื่องราวของตำนานความรักในนิยายร่วมสมัย ที่มักมีเรื่องราวความผูกพันระหว่างระหว่างต้นลำพูและหิ่งห้อย ซึ่งหลายคนอาจจะไม่รู้จักต้นไม้ชนิดนี้ว่ามีลักษณะอย่างไรและมีประโยชน์อย่างไร เพราะปัจจุบันนั้นจะพบเห็นได้ในเฉพาะพื้นที่ดินโคลนหรือเลนริมคลองและแหล่งน้ำทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อยที่มีระดับน้ำแปรเปลี่ยนบ่อย โดยต้นลำพูทะเลที่จะมีความสูงไม่เกิน 15 เมตร ไม่มีการผลัดใบ ส่วนที่พบในป่าดงดิบทั้งหลายคือต้นลำพูป่าจะมีความสูงได้ถึง 35 เมตรและเป็นไม้ผลัดใบสูงชะลูด มีลำต้นที่ใหญ่มากวัดเส้นรอบวงของลำต้นได้ 1-2 เมตร          ลักษณะเด่นของต้นลำพูคือรากอากาศที่ปรากฏอย่างชัดเจนในบริเวณเหนือน้ำ เป็นพืชที่โตไวมาก

ต้นลำพูเป็นต้นไม้ชายน้ำหรือชายเลนที่ช่วยบำบัดน้ำโดยทำให้น้ำในแหล่งที่เติบโตมีออกซิเจนในน้ำ ทำให้น้ำไม่เน่าเสีย และด้วยระบบรากที่มีรากดกและแตกแขนงแผ่กว้างยังทำหน้าที่ป้องกันการกัดเซาะหน้าดินและช่วยป้องกันการพังทลายของดิน ทำให้ดินในบริเวณดังกล่าวมีความร่วนซุยและโปร่ง และยังให้ความร่มรื่นร่มเย็นแก่ระบบนิเวศอีกด้วย นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้นำผลสดจากต้นมารับประทานเป็นผลไม้รสเปรี้ยวจิ้มกะปิกวน หรือจะนำมาเป็นส่วนประกอบอาหารประเภทแกงส้มหรือทำเป็นซอสส้มได้ ส่วนของดอกสดนิยมเด็ดมาลวกพอสะดุ้งในน้ำเดือดแล้วนำมายำหรือนำมารับประทานคู่กับลาบและน้ำพริก ส่วนของไม้นั้นมีชื่อเสียงในการนำมาเป็น “ไม้ก๊อก” ที่มีไว้สำหรับเป็นฝาขวดและอัดเป็นแผ่นสำหรับใช้ปิดฝาภาชนะต่างๆ

ต้นลำพูเป็นไม้ที่มีเรือนพุ่มสวย มักจะมีการเติบโตในแนวราบ มีตาสำรองปกคลุมไปทั่วลำต้น ทำให้เกิดการสร้างกิ่งใหม่ได้ง่าย ใบสีเขียวเข้ม มีเส้นกลางใบและแขนงใบสีเหลืองปนเขียวชัดเจน ขอบเรียบ ปลายใบแหลม ใบสามารถเก็บน้ำค้างไว้ได้ดีและมักมีเพลี้ยมาก่อกวน จึงมักมีหิ่งห้อยมาหาไข่เพลี้ยกินในตอนกลางคืน จนเป็นที่มาของนิทานหิ่งห้อยในแต่ละประเทศ ผลิดอกเดี่ยวมีเกสรชูชันกระจุกตรงกลางจำนวนมาก ส่วนของผลมีรสเปรี้ยวอมหวาน เปลือกผลหนา เนื้อด้านในผลนุ่ม มีกลิ่นแรง ตรงกลางผลมีเมล็ดนับพันเมล็ด หายใจทางรากพิเศษที่อยู่บริเวณโคนต้นเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ลำพูมีความสามารถในการเจริญในน้ำและทนน้ำได้ดี การขยายพันธุ์ทำได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด แต่ต้องปลูกในพื้นที่กึ่งบกกึ่งน้ำจึงจะเจริญได้ดี

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook