สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นหมากแดง ไม้ประดับสีเพลิง

ต้นหมากแดง มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า Sealing wax palm หรือ Lipstick palm เป็นพืชในวงศ์ปาล์มที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย มาเลเซีย เกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียวในประเทศอินโดนีเซีย และประเทศบรูไน กระจายพันธุ์ไปยังประเทศที่มีภูมิอากาศร้อนในหลายประเทศทั่วโลก ในประเทศไทยเรามักพบได้ตามธรรมชาติในป่าพรุโต๊ะแดงและพรุบาเจาะริมทะเลในจังหวัดนราธิวาส

ต้นหมากแดง เป็นไม้ประดับที่มีจุดเด่นจากก้านใบและกาบใบที่มีสีแดงเพลิงตัดกับสีเขียวเข้มของทางใบได้อย่างงดงาม ลำต้นมีลักษณะทั่วไปตามสัณฐานของปาล์ม กล่าวคือมีข้อปล้องบริเวณลำต้นเด่นชัด เป็นปาล์มแตกกอ ที่มีทรงพุ่มขนาดกลางถึงใหญ่ มีความสูง 4-16 เมตร  ลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10-15 เซนติเมตร มีเหง้าแผ่ออกที่โคนต้น คอเป็นลำสีเพลิง มีความยาวระหว่าง 30-50 เซนติเมตร ใบสีเขียวเข้มเงาขลับแบบขนนกชั้นเดียว รี ยาว แคบ เรียงตัวสลับกันราว 25 คู่ มีความยาวของทางใบเกือบ 2 เมตร บริเวณกาบใบ เส้นกลางใบ และก้านใบ มีสีแดงสดแจ่มใส กาบใบจะเอนตัวย้อยห้อยลง ผลิดอกเป็นช่อเป็นรวง โดยมีทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่ในต้นเดียวกัน ผลจากต้นหมากแดงจะมีรูปทรางกลมรี สีเขียวเมื่อเริ่มออกและค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อเริ่มแก่ จนกลายเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือดำเมื่อสุกจัด ผลจะออกมาเป็นกระจุกหลายผล

ด้วยความนิยมที่แพร่หลายในการนำต้นหมากแดงมาใช้เป็นไม้ประดับสวน แต่กลับมีไม้ชนิดนี้ในแหล่งธรรมชาติน้อย จึงทำให้เกิดการขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อและการเพาะเมล็ดเหมือนพืชปาล์มทั่วไป แต่ข้อจำกัดของการแยกหน่อ คือ ขยายได้น้อย แต่ใช้เวลาในการดูแลสั้นกว่าการเพาะเมล็ด แต่หากจะทำในเชิงพาณิชย์ควรเพาะเมล็ดเพื่อให้ได้ต้นไม้ที่มีคุณภาพดี ฟอร์มสวย โดยเลือกใช้เมล็ดที่แก่เต็มที่สังเกตได้จากสีเมล็ดที่ดำสนิท แล้วนำไปเพาะในทรายผสมขุยมะพร้าวที่ไม่มีเส้นใย หรือจะเพาะในทรายล้วนก็ได้ ให้อยู่ในสถานที่มีแดดอ่อนๆ ราว 10-20% และรดน้ำให้ชุ่มชื้นเสมอ ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนจึงย้ายลงปลูกในถุงดำได้ โดยใช้ถุงเพาะชำขนาด 4×6 นิ้วในช่วง 18 เดือนแรก ก่อนที่จะย้ายไปยังถุงขนาดที่ใหญ่ขึ้นแทน แล้วจึงเพิ่มปริมาณการรับแสงเป็น 40-50% ในระยะนี้

สำหรับแมลงศัตรูพืชที่มาก่อกวนส่วนใหญ่จะพบกลุ่มของด้วง ปลวก ตั๊กแตน หนอนผีเสื้อ ซึ่งควรฉีดพ่นชีวภัณฑ์กันไว้บ้าง รวมถึงป้องกันโรคใบจุดด้วยน้ำหมักชีวภาพต่างๆ กันไว้ เพื่อไม่ให้ต้นหมากแดงเหล่านี้ถูกทำลาย และให้ได้ต้นไม้ที่มีฟอร์มสวย ต้นสมบูรณ์โดนใจตลาด

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook