สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นหม่อน หรือ มัลเบอร์รี่ ผลไม้เพื่อการแปรรูป

ต้นหม่อน เป็นที่รู้จักของคนไทยมาช้านาน จากโครงการปลูกต้นหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหม ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทีทรงให้ความห่วงใย และให้ความสำคัญกับการส่งเสริมศิลปาชีพให้แก่พสกนิกรชาวไทย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการปลูกต้นหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหม ซึ่งสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรในชนบทมาช้านานแล้ว พระองค์ทรงสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติ ทำหน้าที่ดำเนินการสนองพระราชดำริด้านหม่อนไหม อนุรักษ์คุ้มครองพันธุ์หม่อนไหม ดูแลส่งเสริมพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกต้นหม่อนเลี้ยงไหมให้เป็นอาชีพที่มั่นคง และพัฒนาผ้าไหมไทยให้อยู่คู่กับคนไทย โดยในอดีตมีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกต้นหม่อน เพื่อใช้ใบเป็นอาหารเลี้ยงหนอนไหมเท่านั้น ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว ผลไม้จากต้นหม่อน ก็คือ มัลเบอร์รี่ ซึ่งเป็นผลไม้ในตระกูลเบอร์รี่ ที่มีผลการวิจัยทั่วโลกให้การยอมรับว่า อุดมไปด้วยวิตามิน และสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย แต่ในตอนนั้นเมืองไทยยังไม่มีใครรู้ข้อมูลจริงๆเลยว่าผลหม่อน คือ มัลเบอร์รี่ และมีประโยชน์มาก ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ในสมัยนั้น ไม่นิยมกินผลหม่อนเพราะมีรสชาติเปรี้ยวฝาดไม่อร่อย และคิดว่าน่าจะเป็นอาหารของนกทั้งหลายมากกว่า

แต่กรมหม่อนไหมไม่เคยหยุดการค้นคว้าวิจัย และยังคงพัฒนาสายพันธุ์ต้นหม่อนใหม่ๆ เพิ่มอยู่ตลอดเวลา จนเริ่มได้ต้นหม่อนสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ทนทานต่อสภาพดิน ฟ้า อากาศร้อนได้มากขึ้น ให้ผลดกมากขึ้น มีรสชาติหวานขึ้น เหมาะที่จะปลูกเพื่อเก็บผลสด หรือแปรรูปเป็นสินค้าที่ส่งผลดีต่อสุขภาพชนิดต่างๆ จนในที่สุด ก็มาลงตัวที่ต้นหม่อนพันธุ์เชียงใหม่ 60 ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน โดยมีลักษณะเด่นๆ ได้แก่ รสชาติหวานอมเปรี้ยว ผลขนาดใหญ่ และมีปริมาณกรดสูง เหมาะสำหรับการแปรรูป สามารถควบคุมให้ออกผลนอกฤดูตามเวลาที่ต้องการได้ ขยายพันธุ์ต้นหม่อนได้ง่ายด้วยการปักชำ โดยกรมหม่อนไหมแนะนำให้ทำการปลูกในพื้นที่ดอนเท่านั้น โดยสามารถปลุกได้ทั้งในเขตภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคอีสาน หากพื้นที่แหล่งปลูกมีแหล่งน้ำสมบูรณ์ สามารถให้น้ำได้ตลอดในช่วงที่ต้นหม่อนออกดอกติดผลจนถึงเก็บเกี่ยวเป็นเวลา 3 เดือน เพราะจะทำให้มีผลผลิตสูงมากขึ้น

ต้นหม่อนเป็นไม้ยืนต้น ที่ลงทุนปลูกครั้งเดียวแต่เก็บเกี่ยวได้นานถึง 30 ปี เพียงแต่จะต้องคอยตัดแต่งกิ่งอยู่เสมอ เพื่อให้ผลผลิตคงคุณภาพดี สำหรับเพื่อนๆ เกษตรกรที่สนใจอยากทดลองปลูก ควรเริ่มจากพื้นที่แค่ 1 ไร่ หรือ 80 ต้นในระยะปลูก 4×4 เมตรก่อน เพราะผลหม่อนมีจุดอ่อนสำคัญคือความบอบบาง ช้ำง่าย ขนส่งยาก ถ้าเก็บจากต้นแล้ว ควรขายให้หมดภายใน 1 วัน หรือเก็บแบบแช่แข็ง เพราะผลหม่อนเหี่ยวเฉาเร็ว จึงเหมาะกับการนำไปแปรรูปมากว่าการขายผลสด เพื่อนๆที่มีทักษะเรื่องการแปรรูปอาหารจะยิ่งมีความได้เปรียบเลยทีเดียวครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook