สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นหวาย หน่อกินได้ ลำต้นใช้งานดี

หวาย เป็นคำที่เราน่าจะคุ้นชินกันมานาน แต่อาจจะคิดไม่ออกว่าหน้าตาของต้นไม้ชนิดนี้เป็นอย่างไร เพราะส่วนใหญ่ที่เรารู้จักหวาย คือเฟอร์นิเจอร์หวาย ตะกร้าหวายที่เห็นกันทั่วไป แต่ต้นหวายจริง ๆ แล้วมีนับร้อยๆ ชนิด ทั่วทุกประเทศ โดยพบมากที่สุดในทวีปเอเชียบริเวณร้อนชื้นและพื้นที่ในแนวเส้นศูนย์สูตร หวายที่พบในประเทศไทยเราเท่าที่มีการสำรวจและบันทึกไว้ มีจำนวนถึง 50 ชนิดกันเลยครับ

หวายเป็นพืชกลุ่มเดียวกับต้นปาล์ม พบได้ในป่าดงดิบ ป่าพรุ และป่าเบญจพรรณทีมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลอย่างน้อย 1,000 เมตร ต้นหวายเมื่อปอกเอาเปลือกออกจะมีความเหนียวและเบา สามารถนำมาดัดเป็นรูปทรงได้ จึงถูกนำมาผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ และงานจักสาน จนหวายถูกตัดออกจากป่าจำนวนมาก และไม่สามารถเติบโตได้ทันการใช้งาน

หวายที่เหมาะสมกับการนำมาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ในการผลิตเครื่องเรือนนั้นจะต้องมีขนาดและคุณสมบัติที่เหมาะสม โดยหวายขนาดใหญ่ที่ใช้ทำเป็นโครงสร้างหลักของเครื่องเรือนจะต้องมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 1.8 เซนติเมตร หากเล็กกว่านั้นจะถูกนำไปผ่าเป็นเส้นเล็กเพื่อใช้ในการจักสาน แต่ด้วยความที่ต้นหวายบ้านเราไม่สามารถเติบโตได้ทันการใช้งาน เราจึงต้องมีการนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมาก

สิ่งที่น่าสนใจของต้นหวายนอกจากลำต้นแล้ว ก็คือยอดหวายและหน่อหวายที่สามารถนำมารับประทานเป็นอาหารได้ บางชนิดอาจมีรสขมเกินจนไม่ได้รับความนิยม แต่ก็มีไม่น้อยกว่า 6 ชนิดที่คนทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือนำแก่นกลางหน่อของต้นหวาย ที่มีเนื้อนุ่มมาปรุงเป็นอาหาร ได้ทั้งสรรพคุณทางสมุนไพรและได้ความอิ่มท้องกันด้วยครับ และที่สำคัญคือมีตลาดรองรับและต้นหวายไม่ต้องใช้เวลามากในการปลูกและดูแล

ต้นหวายที่นิยมนำหน่อหวายมารับประทานเราเรียกกันว่า “หวายดง” ที่เราสามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งวิธีแยกกอและเพาะเมล็ด แต่หากจะทำเป็นการค้าแล้วควรเพาะเมล็ดจะได้ผลผลิตเร็วกว่า โดยนำเมล็ดแก่จัดที่อยู่ข้างในผลหวายออกมา แล้วล้างเปลือกและเนื้อหุ้มเมล็ดออก ก่อนที่จะนำมีดปลายแหลมขนาดเล็กจิ้มเบาๆ บริเวณผิวของเมล็ดให้พอเห็นต้นอ่อนสีขาวด้านใน เพื่อกระตุ้นการงอก แล้วนำไปเพาะในภาชนะที่มีขุยมะพร้าวที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยการต้มแล้ว เมื่อหว่านเมล็ดแล้วให้กลบด้วยขุยมะพร้าวอีกชั้นแล้วนำไปภาชนะไปบ่มไว้ในถุงพลาสติกปิดให้สนิท วางไว้ในที่ร่มรำไร ประมาณ 30-45 วันจึงแยกลงเพาะในถุงเพาะชำต่อไป ก่อนที่จะนำลงแปลงเมื่อต้นหวายมีความสูงประมาณ 40-60 เซนติเมตร ใช้เวลาไม่เกิน 2 ปีก็สามารถเก็บเกี่ยวหน่อไปขายได้อย่างต่อเนื่องแล้วครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook