สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นหว้า ไม้ผลมีอนาคต

ต้นหว้าเป็นไม้ผลที่มีลำต้นทั้งขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ ขึ้นกระจายอยู่ทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย เมื่อถึงฤดูที่ต้นหว้าเริ่มมีผลสุกเด็กๆ หลายคน พอเลิกเรียนก็จะไปวิ่งเล่น ปีนป่ายต้นหว้าเพื่อเก็บลูกหว้ามากินกันเป็นที่สนุกสนาน นั่นคือภาพวิถีชีวิตของคนไทยในสมัยก่อนเมื่อกว่า 40-50 ปีมาแล้ว ซึ่งเด็กรุ่นใหม่ทุกวันนี้อาจไม่มีภาพความทรงจำลักษณะนี้ เพราะยุคสมัยได้เปลี่ยนแปลงไปมาก แม้แต่ต้นหว้าเอง ทุกวันนี้ก็ลดจำนวนลงไปมากเช่นกัน เพราะถูกตัดไปเพื่อแปรรูปบ้าง ถูกล้อมขายไปบ้าง หรือ ถูกโค่นทิ้งเพื่อขยายที่ดินเพาะปลูกบ้าง ซึ่งต้นหว้าที่หายไปเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นต้นไม้ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ได้มีใครตั้งใจปลูกเอาไว้ ส่งผลทำให้จำนวนต้นหว้าในธรรมชาติลดน้อยลงไปทุกที

ต้นหว้าเป็นไม้ยืนต้นอายุยืนถึง 100 ปี ความสูง 10-30 เมตร ลำต้นตรง เปลือกสีเทา กิ่งก้านแข็งแรง เป็นไม้เนื้อแข็ง ทรงพุ่มใบแน่นทึบ ใบหนาทรงรียาวคล้ายกับใบหอก ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน มีจุดเล็กๆทั่วใบ ดอกออกเป็นช่อกระจุกอยู่ตามซอกใบ กลีบดอกสีเหลืองอ่อน มีเกสรตัวผู้เป็นเส้นฝอยจำนวนมาก ลูกหว้าเมื่อเริ่มสุกจะเป็นสีม่วงแดง เมื่อสุกเต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ ขนาดผลและรสชาติผล ของต้นหว้าแต่ละต้นจะไม่เหมือนกัน บางต้นผลกลมเล็ก บางต้นผลใหญ่คล้ายองุ่น บางต้นลูกหว้ามีรสเปรี้ยวฝาด บางต้นก็รสหวานฝาด บางต้นเปรี้ยวอมหวาน ซึ่งสาเหตุก็เพราะต้นหว้าธรรมชาติจะแพร่กระจายพันธุ์เองโดยเมล็ดที่ร่วงหล่น หรือจากเมล็ดในมูลนกที่บินไปถ่ายในที่ต่างๆ ซึ่งเมล็ดมักจะทำให้กลายพันธุ์ได้อยู่เสมอ

ปัจจุบัน ต้นหว้า ถูกขึ้นบัญชีให้เป็นไม้หายาก และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ จำเป็นต่อการอนุรักษ์ไว้หากเพื่อนๆ เกษตรกรปลูกตามเงื่อนไขธนาคาร ก็สามารถใช้ต้นไม้นี้ค้ำประกันเงินกู้จากธนาคารได้ เชื่อแน่ว่าจากนี้ไปจะต้องมีการปลูกต้นหว้าในจำนวนมากขึ้นกว่าในอดีตอีกมาก เพราะเป็นการปลูกอย่างมีเป้าหมาย สำหรับคนที่มีกล้าพันธุ์ต้นหว้าขาย อาจต้องหาวิธีเพิ่มปริมาณกล้าพันธุ์ของตนให้มากขึ้น ซึ่งกล้าพันธุ์จะต้องมีรากแก้วเท่านั้น หากใครหาเมล็ดลูกหว้ามาเพาะไม่ได้ อาจใช้วิธีเสียบยอดกับต้นตอของชมพู่เพาะเมล็ดก็ได้ เพราะเป็นพืชในวงศ์เดียวกัน  นอกจากนี้ลูกหว้ายังมีราคาสูง ตกกิโลกรัมละ 50-100 บาท เพราะหาซื้อได้ยาก แต่ถ้าต่อไปมีการปลูกเชิงการค้า และมีผลผลิตลูกหว้าออกจำนวนมากก็สามารถนำไปแปรรูปเป็นสินค้าได้หลายชนิดเช่น ไอศกรีม ไวน์ ลูกหว้าหยี อบแห้ง แยมลูกหว้า เครื่องดื่มสมุนไพร ฯลฯ ซึ่งน่าจะเป็นตลาดที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียวครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook