สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นหางนกยูง ให้ดอกสีแสดอมแดง

ต้นหางนกยูง ต้นไม้ที่ให้ดอกสีแสดอมแดง เมื่อบานสะพรั่งพร้อมกันทั้งต้นทำให้สวยตระการสดใส โดยเฉพาะบริเวณริมถนนทางสัญจรที่ปลูกเป็นแนวตลอดสองข้างทาง หากขับรถไปตามเส้นทางจะเห็นต้นไม้เป็นทิวแถวที่สวยงามยิ่งนัก แต่เดิมเรามักจะพบเห็นตามถนนหนทางหรือในพื้นที่รกร้างกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันกลับเป็นที่นิยมในการนำมาตกแต่งเป็นไม้ประดับตามพื้นที่ในบ้าน เพราะเป็นดอกไม้มงคลที่คนล้านนาหรือทางภาคเหนือของไทยเรา เรียกว่า “ดอกซอมพอหลวง” นิยมนำมาใช้ประดับประดาองค์พระพุทธรูปในพิธีสรงน้ำพระในวันสงกรานต์ในช่วงฤดูแล้ง ขณะเดียวกันการบูชาเสาอินทขีลหรือเสาหลักเมืองประจำจังหวัดเชียงใหม่นั้น ต้องนำดอกซอมพอมาวางไว้ในพานดอกเพื่อบูชาเสาหลักเมืองเสมอ ขณะเดียวกันการปลูกต้นไม้ชนิดนี้ไว้ในอาณาบริเวณรั้วบ้าน มีความเชื่อกันมาว่า จะทำให้สมาชิกในครัวเรือนมีความก้าวหน้า อยู่เย็นเป็นสุข มีความยินดีปรีดา เพราะไม้ชนิดนี้มีร่มเงาแผ่กว้างซึ่งบ่งบอกถึงความร่มเย็น และเป็นไม้ที่เจริญงอกงามเติบใหญ่ ซึ่งหมายถึงความก้าวหน้า และดอกสีสันสดใสบ่งบอกถึงความสุข

ต้นหางนกยูงนั้นมีทั้งแบบไทยและแบบฝรั่ง แต่ในบทความวันนี้เราจะชวนคุยเรื่องต้นใหญ่ตามที่เราได้เล่าเรื่องซอมพอหลวงกันมาตั้งแต่ตอนต้น โดยลักษณะของต้นหางนกยูงฝรั่งนั้นจะมีลำต้นที่สูงใหญ่กว่าต้นหางนกยูงไทย มีชื่อภาษาอังกฤษว่า The flame tree ซึ่งอนุมานว่ามาจากสีของดอกสีแสดแดงดั่งเพลิง เป็นไม้ยืนต้น ที่มีความสูงได้เกือบ 20 เมตร กิ่งก้านและใบแผ่เป็นพุ่มกว้าง เป็นไม้ในเขตอบอุ่นถึงร้อน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา จึงเหมาะแก่การปลูกในประเทสไทยของเราที่มีภูมิอากาศอบอุ่นเช่นกัน และยังเป็นไม้ป่าที่สามารถเติบโตได้ตามธรรมชาติ ทำให้มีความสามารถในการปรับตัวสูง ทนแล้ง ไม่ต้องบำรุงมากและให้ร่มเงาได้เร็ว และที่สำคัญคือเป็นพืชตระกูลถั่วที่สามารถสร้างความอุดมสมบูรณ์ในดินได้ดีอีกด้วย

การนำต้นหางนกยูงชนิดนี้มาใช้ประดับสวนหรือออกแบบภูมิสถาปัตย์นั้น จะจัดต้นนี้อยู่ในกลุ่ม Spring Bloomer เป็นกลุ่มที่ให้ดอกกลุ่มแรกในช่วงฤดูใบไม้ผลิ หลังจากที่ทยอยผลัดใบตั้งแต่ปลายฤดูฝนและผลัดใบจนสิ้นสุดทั้งต้นในช่วงปลายฤดูหนาว จึงจะเริ่มออกดอกพร้อมกันทั้งต้น หากต้องการให้ผลิดอกดก ในช่วงเริ่มต้นฤดูหนาวให้ตัดแต่งกิ่งที่ยังมีเปลือกสีเขียวออกและริดกิ่งกระโดงออกให้หมด โดยทิ้งกิ่งที่แก่แล้วไว้บนต้นเช่นเดิม จะทำให้ได้ดอกที่ดก หลังจากที่ดอกบานเต็มที่โรยจึงทำการตัดแต่งใหญ่ทั้งต้นอีกครั้ง

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook