สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นอินจัน หรือต้นจันลูกหอม

อินจัน มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ต้นจันอิน ต้นจัน ต้นอิน ต้นจันอิน ต้นจันโอ ต้นจันลูกหอม ต้นลูกจัน เป็นต้น ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Gold apple เป็นไม้ในวงศ์มะพลับ นิยมปลูกในเขตร้อนหรือประเทศในแนวเส้นศูนย์สูตร นิยมปลูกมากในประเทศเวียดนาม โดยมักปลูกในบริเวณวัด และยังสามารถพบได้ในประเทศกัมพูชา ประเทศลาว ประเทศเมียนมาร์และประเทศไทย แต่นับวันยิ่งพบได้ยาก เพราะเป็นไม้ที่ใช้เวลานานกว่าจะเจริญเติบโต จนทำให้กลายเป็นไม้หายากจนเกือบจะสูญพันธุ์ ทำให้ไม้ชนิดนี้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นพืชควรค่าแก่การอนุรักษ์พันธุกรรมในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

พืชชนิดนี้เป็นไม้ยืนต้น มีความสูงประมาณ 20 เมตร ลำต้นเปลา เรือนยอดสูงแผ่กว้าง มีใบหนาแน่น เปลือกของลำต้นเป็นสีดำ มีร่องและรูเล็กๆ ปกคลุมผิวไม้ ยอดอ่อนมีขนบางๆ สีน้ำตาล แตกใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะใบยาวรีปลายแหลม ผิวใบสีเขียวแก่เป็นมัน ดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน และที่โดดเด่นคือให้ผล 2 ลักษณะ คือบางผลเป็นทรงกลม ที่ถูกเรียกว่า “ลูกอิน” บางผลเป็นทรงแป้น เรียกว่า “ลูกจัน”  เมื่อสุกจะมีผลสีเหลือง รับประทานได้

เนื้อไม้ของต้นอินจันเป็นไม้เนื้อแข็งสีขาวแทรกด้วยเส้นสีดำหรืออาจจะมีแก่นไม้เป็นสีดำขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และแหล่งปลูก โดยจะมีสีของแก่นไม้เป็นสีแดงเข้ม น้ำตาล เทาเข้ม จนถึงดำสนิท เนื้อสัมผัสของเนื้อไม้ละเอียด เนียนมือ ไม้แข็ง เปราะ มีน้ำหนักมาก กระพี้มีความยืดหยุ่นและเหนียว นิยมนำมาใช้ประโยชน์ในงานก่อสร้าง โดยเนื้อไม้ที่ได้จากต้นไม้ที่ยังไม่แก่เต็มที่ จะนำมาใช้ทำ เสา คาน วงกบ ประตู หน้าต่าง เป็นต้น และแก่นไม้จะถูกนำมาผลิตเป็นด้ามปืน ด้ามมีด เครื่องดนตรี เครื่องเรือน เพราะผิวละเอียด ขัดเงาได้ง่ายและงดงาม ส่วนของกระพี้นิยมนำมาทำเป็นอุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ สำหรับดีดกีตาร์ และเฟรมยึดกรอบภาพ

ผลลูกอินจันที่สุกแล้ว นิยมรับประทานเป็นผลไม้สด เพราะมีรสชาติหวานปนฝาด นำไปแปรรูปทำเป็นของหวานต่างๆ ส่วนผลจากต้นอินจันที่เป็นผลดิบและสุกยังได้รับความนิยมในผู้บริโภคแถบจังหวัดภาคตะวันออกของประเทศไทยบางพื้นที่ นำมาประกอบอาหาร เป็น ส้มตำหรือนำมารับประทานคู่กับน้ำพริกต่างๆ สำหรับการนำมาใช้เป็นยาแผนไทยหรือยาพื้นบ้านนั้น พบว่าส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้ชนิดนี้สามารถนำมาใช้เป็นสมุนไพร เช่น เนื้อไม้และแก่นไม้ที่มีรสชาติหวานอมขม นำมาใช้เป็นยาแก้ร้อนใน และยังใช้บำรุงสมองและประสาท ผลดิบมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยบำรุงผิวพรรณให้ชุ่มชื่น แก้กระหายน้ำ บรรเทาอาการร้อนใน ช่วยลดความฟุ้งซ่าน บำรุงกำลัง เป็นต้น

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook