สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นอินทผาลัม ผลไม้สุดปังแห่งปี 2563

ต้นอินทผาลัม หรืออินทผลัม ไม่ว่าใครจะอ่านหรือเรียกชื่ออย่างไร ก็ไม่สำคัญอีกแล้วเพราะตอนนี้ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่า การตามล่าหาซื้อต้นพันธุ์เพื่อนำมาปลูก ทั้งเพื่อนๆ เกษตรกร หน้าเก่า หน้าใหม่ หรือคนทั่วไป ต่างก็ตื่นกระแสอินทผาลัม เพราะราคาผลผลิตในปี 2563 นี้พุ่งสูงถึง 300 – 500 บาทต่อกิโลกรัม ไม่ต้องถามว่า อินทผาลัม ดีอย่างไร อร่อยแค่ไหน เพราะตอนนี้ไม่มีใครสนใจอยากรู้มากเท่ากับว่า ราคาต้นพันธุ์ตอนนี้มีราคาเท่าไร จะหาต้นพันธุ์ได้จากที่ไหน มีของให้เลยหรือ ต้องสั่งจองนานแค่ไหน ซึ่งกระแสความต้องการนี้ ทำให้เกิดช่องโหว่ให้พวกมิจฉาชีพฉวยโอกาส โก่งราคา หลอกลวงขายต้นพันธุ์ กักตุนต้นพันธุ์ ปั่นกระแส เก็งกำไร จึงมีเพื่อนๆเกษตรกรหลายคนที่ตกเป็นเหยื่อ ถูกหลอกเงินหรือหลอกขายต้นพันธุ์เพาะเมล็ด และที่แน่ๆ คือถูกโก่งราคาซื้อต้นพันธุ์ที่แพงเกินจริง 3-4 เท่าตัว   สำหรับเพื่อนๆเกษตรกรที่สนใจ และ ยังไม่รู้จักอินทผาลัมเลยจริงๆ เรามาลองดูว่าพืชสร้างกระแสตัวนี้มีความเป็นมาอย่างไรกันดีกว่าครับ

ต้นอินทผาลัม เป็นพืชท้องถิ่นในทวีปแอฟริกาเหนือ ขึ้นอยู่ตามแหล่งน้ำกลางทะเลทราย ซึ่งคนอียิปต์ปลูกกันมาแล้วนับพันปี เป็นพืชวงศ์เดียวกับมะพร้าวและปาล์ม มีอายุยืนถึง 80 ปี ทนทานต่ออากาศร้อน แต่ขาดน้ำไม่ได้ เป็นพืชแยกเพศ คือมีต้นตัวผู้ที่ไม่มีผล และต้นตัวเมียที่ให้ผล มีการผสมเกสรข้ามต้นกัน มีผลออกเป็นพุ่มเรียกทะลาย ผลสดคล้ายพุทรา มีรสหวานกรอบ ผลตากแห้งยิ่งหวาน เก็บรักษาได้เป็นปี ในสมัยก่อนใช้เมล็ดปลูก จึงกลายพันธุ์ง่าย และมีลักษณะแตกต่างกันไปบ้างตามท้องถิ่นที่นำไปปลูก

ปัจจุบัน อินทผาลัมจึงมีหลายร้อยสายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิมและพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ ซึ่งแต่ละประเทศที่นำไปปลูก ก็จะมีสายพันธุ์เด่นๆ เป็นของตัวเอง ซึ่งบ้านเราเมื่อ 10 ปีก่อน เริ่มมีการนำเอาเมล็ดมาทด ลองปลูกแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะต้นอินทผาลัมที่เพาะจากเมล็ด ต้องรอปลูกไปแล้ว 2-3 ปี จึงจะรู้ว่า มีเพศอะไร ซึ่งถ้าได้ต้นตัวผู้มาก ที่ปลูกมาก็เสียเวลาเปล่า ต่อมาในปี 2559 ซึ่งได้เริ่มปลูกกันอย่างจริงจังมาก เพราะมีต้นพันธุ์มาจากต่างประเทศที่เลือกเพศได้ทันที ไม่กลายพันธุ์เพราะใช้วิธีเพาะเนื้อเยื่อในห้องทดลอง และเป็นพันธุ์เหมาะสม ที่จะปลูกในประเทศไทย บ้านเราจึงปลูกกันอยู่ไม่กี่สายพันธุ์ เช่น พันธุ์บาร์ฮี พันธุ์โคไนซี่ พันธุ์อัมเอ็ดดาฮาน ซึ่งทั้งหมดเป็นพันธุ์กินผลสด โดยต้นพันธุ์ที่นำเข้ามาราคาเฉลี่ยต้นละ 1,500 – 1,800 บาท

ต้นอินทผาลัมที่ปลูกใหม่จะเริ่มให้ผลเต็มที่ในปีที่ 4 ซึ่งตรงกับปีนี้ คือ พ.ศ.2563 จึงทำให้ผลผลิตของแต่ละสวนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เริ่มทยอยออกมาขายไล่เรียงกันอย่างบานสะพรั่ง เป็นของแปลกใหม่และเป็นข่าวคึกโครม เพราะส่วนราชการในจังหวัดที่มีสวนอินทผาลัม ใช้เป็นโอกาสช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้กับจังหวัดของตน จึงทำให้เกิดกระแสความคึกคักให้แก่เพื่อนเกษตรกรได้เป็นอย่างมาก เพื่อนๆ ท่านใดอยากลองปลูกก็เริ่มลงมือเลยครับ และอย่าลืมหาแนวทางแปรรูปไว้ด้วยนะครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook