สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นเต็ง ไม้วงศ์เดียวกันกับต้นยางนา

ต้นเต็ง ต้นไม้สูงชะลูดวงศ์เดียวกันกับต้นยางนา มีชื่อภาษาอังกฤษที่เรียกกันทั่วไปว่า Burmese sal หรือ Siamese sal เพราะเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศเมียนม่าร์และประเทศไทยเรา ก่อนที่จพกระจายพันธุ์ไปยังประเทศต่างๆ ในแถบประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซ๊ย อินโดนีเซีย ลาว และเวียดนาม  พบได้มากในป่าเต็งรังในเกือบทุกภาคของประเทศไทย ยกเว้นภาคใต้ โดยในภาคอีสานจะเรียกต้นไม้ชนิดนี้ว่า ต้นจิก เป็นไม้ที่สามารถขึ้นในดินลูกรังและดินผสมหินทรายได้ดี

การนำส่วนต่างๆ ของต้นเต็งมาใช้ประโยชน์นั้นสามารถนำมาใช้ได้ครอบคลุมหลายด้าน เพราะเนื้อไม้มีความแข็ง มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน จึงถูกนำไปใช้ในงานก่อสร้าง เพื่อใช้ทำเป็นโครงสร้าง เช่น เสาเรือน ไม้คาน ไม้ตง และไม้พื้น เป็นต้น และด้วยสีเนื้อไม้ที่มีสีโทนน้ำตาลแดงและน้ำตาลอ่อนซึ่งเป็นสีโทนสว่าง จึงมักถูกนำไปประกอบเป็นเครื่องเรือนขนาดใหญ่ ขัดเงาแล้วจะได้สีที่สวยงาม รวมทั้งนำมาทำเป็นด้ามปืน ด้ามมีดและเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ด้วย แต่ปัจจุบันต้นเต็งถูกจัดเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. การที่เราจะไปตัดหรือโค่นต้นเต็งนั้น จะต้องได้รับใบอนุญาตจากทางราชการก่อน มิฉะนั้นจะเป็นการขัดต่อกฎหมายนะครับ

นอกจากเนื้อไม้แล้ว ในส่วนของยางที่ได้จากต้นเต็งสามารถนำมาใช้ประโยชน์โดยนำไปผสมกับน้ำมันเพื่อใช้เป็นยาแนว ทาเครื่องมือเครื่องใช้และทาพื้นเรือได้ และเศษไม้เต็งยังถือว่าเป็นเชื้อเพลิงหุงต้มที่ให้พลังงานความร้อนสูง เหมาะต่อการนำมาเป็นเชื้อเพลิงอย่างมาก ส่วนของเปลือกไม้ถูกนำมาใช้เป็นสมุนไพรโดยการนำไปฝนและนำไปเติมในน้ำปูนใส ก่อนที่จะนำสำลีมาจุ่มน้ำยาที่ผสมแล้ว และนำไปทาบริเวณผิวหนังที่มีผลพุพองหรือเลือดออก เพื่อลดการติดเชื้อและสมานแผลได้

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของต้นเต็ง เป็นต้นไม้ที่เปลา สูงไม้มากนัก ผลัดใบ ลำต้นคดงอเป็นส่วนใหญ่ พุ่มเรือนยอดกว้าง ขนาดความสูงระหว่าง 10-25 เมตร เปลือกไม้มีสีเทาอมน้ำตาล แตกเป็นร่องตามแนวตั้งเห็นเป็นสะเก็ดได้ชัด ด้านในเปลือกไม้มีสีน้ำตาลอ่อน แก่นของเนื้อไม้มีสีน้ำตาลแก่ แตกใบเดี่ยวสีเขียวปนเหลือง ใบรียาว ออกเรียงสลับกัน ผิวใบและใต้ใบสาก มีขนปกคลุมอยู่บ้าง ใบจะเริ่มกลายเป็นสีเหลืองแดงมากขึ้นเมื่อใกล้ผลัดใบ ก่อนจะร่วงหล่นลงสู่ใต้โคนต้นไม้ ผลิดอกเป็นช่อแขนงตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกมีสีขาวขุ่นขนาดเล็ก มีกลิ่นหอม ออกดอกช่วงปลายฤดูหนาวไปจนถึงช่วงฤดูร้อน ราวเดือน ก.พ.-พ.ค. ให้ผลมีลักษณะกลมรีคล้ายปลายหอก ภายในผลมีเมล็ดเดี่ยว แก่เต็มที่ในช่วง เม.ย.- ก.ค. สามารถนำเมล็ดไปขยายพันธุ์ได้

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook