สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นโฮย่า พืชอวบน้ำหลากชนิด ตลาดโต

ต้นโฮย่า เป็นคำศัพท์ที่เราใช้เพื่อเรียกพืชสกุล Hoya ที่มีต้นไม้ในสกุลนี้นับร้อยชนิด ครอบคลุมพื้นที่การปลูกตั้งแต่ประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียไปจรดทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย  ในประเทศไทยสามารถพบได้ในป่าทั่วไป และมีในไทยเรามากกว่า 40 ชนิด

ต้นโฮย่าจัดเป็นไม้ดอกประเภทเถาเกาะอิงอาศัย เจริญด้วยการเลื้อยบนไม้ใหญ่ ชนิดที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางคือ Hoya Carnosa ที่มีถิ่นกำเนิดในทางล่างของประเทศจีน และถูกขนานนามภาษาไทยว่า “ผกาแก้ว” และยังมี โฮย่าหวานใจหรือเรียกกันโฮย่าใบหัวใจและโฮย่าวาเลนไทน์ ที่เป็นพันธุ์ดั้งเดิมในประเทศไทย ที่มีชื่อเรียกหลากหลาย รวมไปถึง ต้าง นมตาเลียและหัวใจทศกัณฐ์ ด้วยรูปทรงของใบนั้นมีลักษณะคล้ายรูปหัวใจที่หนาและอวบนั่นเองครับ ที่น่าสนใจไปกว่านั้น ต้นโฮย่ามีตลาดต่างประเทศต้องการอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นและประเทศในแถบยุโรป

ลำต้นโฮย่าจะเป็นเถาเลื้อยที่มีน้ำยางสีขาวใสอยู่ภายในเถา ใบสีเขียวบ้าง และมีใบด่างขาวหรือด่างชมพูปนขาวบ้างในบางชนิด แตกใบเป็นคู่แบบตรงกันข้าม ลักษณะของใบแต่ละชนิดแตกต่างกันไป บ้างเป็นรูปหัวใจ บ้างเป็นรูปไข่ บ้างเป็นรูปทรงกลม ใบอวบน้ำและหนา ผลิดอกเป็นช่อแบบซี่ร่ม ดอกมีลักษณะคล้ายดาวมีมงกุฎ 5 แฉกยู่ตรงจุดศูนย์กลางของดอก ประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนหลายดอก มีสีสันแตกต่างกันไปในแต่ละชนิด ทั้งสีแดง เหลือง ชมพู ขาว บานเย็น และยังมีแบบสองสีในดอกเดียวกันอีกด้วย ส่วนของกลิ่นหอมนั้น บางชนิดมีกลิ่นหอมและบางชนิดอาจไม่มีกลิ่น แต่ในปัจจุบันนี้ ชนิดที่มีกลิ่นหอมกำลังเป็นที่นิยมของตลาด ให้ผลเป็นฝักแบบคู่ ด้านในฝักมีเมล็ดรูปไข่ขนาดเล็ก

ต้นโฮย่าได้รับความนิยมสำหรับคนเมืองมากขึ้น เพราะเนื้อที่ในการเพาะปลูกจำกัด และมีเวลาในการรดน้ำไม่มากนัก ทำให้ไม้ชนิดนี้ตอบโจทย์วิถีชีวิตคนเมืองอย่างดี เพราะมีเป็นต้นไม้ที่ปลูกง่าย เจริญเร็ว และใช้เวลาไม่นานก็สามารถได้ชื่นชมดอกสวยๆ ได้ง่ายๆ  สามารถเลี้ยงโดยใส่กระถางแบบแขวน วางกับพื้น ประดับโต๊ะทำงาน หรือจะให้เกาะเลื้อยอิงอาศัยกับต้นไม้อื่นก็ได้

สำหรับการขยายพันธุ์ต้นโฮย่านั้นทำได้ง่ายๆ ด้วยการชำใบ โดยการตัดใบตั้งแต่ก้านใบจากต้นพันธุ์ที่มีอายุมากกว่า 6 เดือน ที่มีลักษณะเด่นและสมบูรณ์ แล้วนำมาล้างน้ำสะอาด และนำกาบมะพร้าวที่ชุ่มชื้นมาหุ้มบริเวณก้านใบ และพักไว้ราว 1 สัปดาห์รอให้รากเจริญแล้วจึงนำไปลงถุงดำและบำรุงดูแลต่ออีกราว 4 สัปดาห์ ก็จะเห็นพัฒนาของใบที่จะมีสีสันที่สวยงามและเข้มขึ้น แล้วจึงนำไปลงกระถางต่อไป

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook