สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นไทรย้อยใบแหลม หรือต้นไทรย้อย

ต้นไทรย้อยใบแหลม หรือที่เรานิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า ต้นไทร หรือ ไทรย้อย นั้น เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียและมาเลเซีย เป็นไม้ยืนต้น ไม้เถา หรือไม้พุ่ม ขึ้นอยู่กับสกุลย่อยต่างๆ โดยพบว่ามีไทรถึง 800 ชนิดกระจายอยู่ทั่วโลก มักกระจายพันธุ์อยู่ในพื้นที่เขตร้อนเป็นส่วนใหญ่ โดยในไทยเราพบว่ามีไทรมากกว่า 100 ชนิด เติบโตได้ทั้งบนที่ราบ ภูเขา พื้นที่ที่เป็นหินปูน  ริมทะเล และในเมือง เป็นไม้ที่ทนน้ำได้ดี บางครั้งเติบโตแบบกึ่งอิงอาศัย โดยใช้รากโอบรัดพันเกาะฝากอาศัยกับไม้ชนิดอื่นหรือโขดหิน สามารถพบไทรได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความชื้นสูง ตั้งแต่ความสูงระดับน้ำทะเลปานกลางจนถึงภูเขาที่มีความสูงถึง 2,300 เมตร โดยชนิดที่พบในป่าตามธรรมชาตินั้น จะมีทั้งไม้เลื้อยและไม้พุ่มไปจนถึงไม้ต้น มีทั้งแบบอิงอาศัยและขึ้นเองบนดิน ส่วนที่พบในเมืองจะพบทั้งชนิดไม้ต้นและไม้เลื้อย ซึ่งไม้เลื้อยนั้นจะนิยมนำมาปลูกประดับกำแพงหรือผนัง

ต้นไทรย้อย จัดเป็นต้นไทรสกุลย่อย Urostigma ซึ่งเป็นสกุลย่อย ที่พบในประเทศไทยเราได้ถึง 44 ชนิด โดยต้นไทรย้อยใบแหลม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ficus Benjamina L. ส่วนต่างๆ จะมียางสีขาวคล้ายน้ำนม บางครั้งพบว่ามีสีใสก็ได้ ลำต้นมีความสูงตั้งแต่ 10 – 30 เมตร ทรงพุ่มหนาแน่นกว้างให้ร่มเงาได้ดี แต่ก็พบบางชนิดที่ให้พุ่มบาง โปร่ง ลำต้นตรง สีผิวเปลือกรอบลำต้นมีสีเทาอ่อน ผิวเรียบ บริเวณลำต้นและกิ่งก้านจะแตกรากอากาศย้อยห้อยระโยงระยางลงมา จัดเป็นพืชที่เติบโตช้า แต่มีรากที่แผ่กระจายได้กว้าง แตกใบเดี่ยว  เรียงวนแต่ก็พบบางชนิดที่เรียงสลับ แตกใบเป็นกระจุกบริเวณยอดกิ่ง หูใบหุ้มกิ่งหรืออาจจะแยกอิสระก็ได้ ใบอ่อนจะมีขอบใบหยัก บริเวณด้านล่างของใบจะมีต่อมไขอยู่ที่ฐานใบ แตกดอกบริเวณง่ามใบเป็นคู่ ให้ผลแบบมะเดื่อออกเป็นคู่ ผลกลมกึ่งรีคล้ายลูกแพร์ ไม่มีก้านผล สีผลเมื่อสุกจะมีแสดจนถึงแดงกล่ำ โดยไทรชนิดนี้ยังพบได้ในประเทศอื่นๆ แถบเอเชียตะวันตกและกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การขยายพันธุ์สามารถทำได้ทั้งการเพาะเมล็ด ตอนกิ่งและปักชำ และยังสามารถปลูกลงดินหรือลงกระถางก็ยังได้ นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประธานสำหรับจัดตกแต่งสวน หรือให้ร่มเงาตามแนวทางเดินในถนนสาธารณะ เพราะเป็นไม้ที่ทนต่อสภาพแวดล้อมของประเทศไทยเราได้ดี และต้นไทรย้อยใบแหลมยังนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ฟอกอากาศเพราะมีประสิทธิภาพในการดูดซับมลพิษในอากาศได้อย่างดี

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook